xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ห่วง 4 ประเด็นร่าง กม.ลูก ป.ป.ช. แนะแยกเรื่องร้องตามตำแหน่งและมูลค่าโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าประชาธิปัตย์ หนุน กรธ.เขียนกฎหมายลูก ป.ป.ช. ลดงาน-แก้ขั้นตอนที่มากเกินไป แต่แนะแยกเรื่องร้องเรียนตามตำแหน่งและมูลค่าความทุจริต ให้มี ป.ป.ช.อยู่ในอนุ กก. ห่วงให้เซ็นชื่อผู้ร้องเรียน ขยายอำนาจมากถึงขั้นให้พกอาวุธได้ ติงให้ประธานไปนั่งกองทุน ป.ป.ช.ร่วมกับนายกฯ สุ่มเสี่ยงต่อความเกรงใจ ชี้ควรรักษาระยะห่าง แนะให้ประชาชนคือผู้เสียหายหากร้องแบบไม่มีสาระก็จำหน่ายเรื่องได้ ดึงงานวิชาการภาคเอกชนมาเชื่อมโยง

วันนี้ (29 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายของพรรค ติดตามการสัมนาและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และหากมีความจำเป็นก็จะเสนอความเห็นเป็นเอกสารต่อ กรธ.ด้วย อย่างไรก็ตาม ตนสนับสนุนประเด็นที่ทาง กรธ.พยายามทำเพื่อแก้ปัญหาเรื่องขั้นตอนมากเกินไป และต้องการลดงานของ ป.ป.ช.นั้นเป็นทางออกหนึ่ง แต่อยากเสนอให้มีการแยกประเภทเรื่องที่มีการร้องเรียน เช่น ผู้ที่ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งระดับไหน หากดำรงตำแหน่งระดับสูง เป็นนักการเมืองก็ควรใช้ระบบที่ให้กรรมการ ป.ป.ช.ไปเป็นประธานอนุกรรมการฯ หรือดูแลสำนวนด้วยตัวเอง ส่วนกรณีการร้องเรียนผู้ดำรงตำแหน่งในระดับที่ต่ำลงมาจะใช้เจ้าหน้าที่ทำก็ไม่เป็นไร แต่น่าจะมีการแบ่งตามระดับตำแหน่ง และมูลค่าความทุจริต ไม่อยากให้ทิ้งเรื่องการใช้อนุกรรมการที่ต้องมีหนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.เข้าไปร่วมด้วย เพราะการให้เจ้าหน้าที่ไปทำโดยคนภายนอกไม่มีทางรับรู้เลยว่า เจ้าหน้าที่มีที่มาที่ไปอย่างไรก็เป็นเรื่องอันตราย แต่ถ้าไม่มีระบบแยกคดีที่มีความสำคัญออกมาปล่อยให้เจ้าหน้าที่ธรรมอาจเกิดความไม่เป็นธรรมได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นห่วงในร่างกฎหมายนี้มีหลายประเด็น 1. เดิมเวลาคนร้องเรียนเรื่องการทุจริตไม่ต้องเปิดเผยชื่อแต่กฎหมายใหม่บอกว่าการกล่าวหาใครต้องเซ็นชื่อระบุว่าผู้กล่าวหาคือใคร ซึ่งในปัจจุบันมีคนจำนวนมากทราบเรื่องการทุจริตแต่ไม่กล้าร้องเรียน เพราะกลัวว่าจะรู้ว่าใครเป็นคนร้อง จะถูกคนที่ทุจริตมีอำนาจเล่นงาน การบังคับว่าการกล่าวหาต้องเปิดเผยชื่อ ลงลายมือชื่อ จะทำให้มีเรื่องจำนวนมากไปไม่ถึง ป.ป.ช. สุดท้ายจะทำให้การปราบปรามการทุจริตทำได้ยากขึ้น 2. มีการขยายอำนาจ ป.ป.ช.มากเกินไป ที่แปลกใจคือถึงขั้นว่า ป.ป.ช.จะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน วัตถุระเบิด ยุทธภัณฑ์ ตนคิดว่า ป.ป.ช.ไม่ควรสร้างจนมีลักษณะเหมือนตำรวจ ทหาร และนึกไม่ออกว่าทำไม ป.ป.ช.ต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ด้วย และการมีเช่นนี้จะนำไปสู่อะไร โดยเห็นว่าหน้าที่ ป.ป.ช.คือต้องดูเรื่องการสืบสวนสอบสวน ไต่สวนการทุจริตมากกว่า

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า 3. ในกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีเรื่องกองทุน ป.ป.ช.บูรณาการงบประมาณด้านการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล ตนมีข้อห่วงใยว่าการให้ประธาน ป.ป.ช.ไปนั่งเป็นประธานกรรมการร่วมกับนายกรัฐมนตรีในกองทุนดังกล่าวโดยมีรัฐมนตรีอีกหลายคนอยู่ในคณะ ทำงานเรื่องงบประมาณร่วมกันไม่น่าจะเป็นผลดี เพราะคนที่อยู่ใน ครม.หรือวงราชการคือคนที่ต้องถูกตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ถ้าต้องทำงานร่วมกันเรื่องงบประมาณจะเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความเกรงใจ ผลประโยชน์ขัดกัน หรือสร้างความเป็นเครือข่ายขึ้นมา และตัวกองทุนก็พูดเรื่องการมีสินบนซึ่งเป็นอันตรายเพราะระบบสินบนของหลายหน่วยงานในขณะนี้มีปัญหามาก

“ป.ป.ช.กับฝ่ายบริหารต้องมีระยะห่าง แม้แต่ใน รธน.ผมก็ไม่เห็นด้วยที่กำหนดว่าการร้องเรียน ป.ป.ช.ต้องผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งปกติเป็นคนฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว ความจริงควรเหมือนเดิมที่สามารถฟ้องศาลได้เลย ซึ่งในอดีตก็มี ป.ป.ช.ชุดหนึ่งถูกฟ้องและศาลฎีกาฯ ตัดสินว่ามีความผิดด้วยที่ทำสำเร็จได้เพราะฝ่ายค้านสามารถไปฟ้องตรงแต่เมื่อกำหนดให้ฟ้องผ่านประธานสภาก็อาจเกิดปัญหาที่ประธานสภาไม่ส่งไปยังศาล ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อน” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ 4 คือ อยากให้กระบวนการปราบปรามการทุจริตสามารถใช้ประโยชน์จากภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น นิยามคำว่าผู้เสียหายยังแคบไป เพราะในความเป็นจริงประชาชนคือผู้เสียหายจากการทุจริตทั้งสิ้น จึงควรระบุให้ประชาชนคือผู้เสียหายสามารถร้องเกี่ยวกับการทุจริตได้เพราะเป็นผู้เสียภาษี ส่วนที่ห่วงว่าจะทำให้เกิดการร้องเรียนไม่สิ้นสุดนั้น ตนคิดว่าเรื่องนี้หากร้องแบบไม่มีสาระ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอก็จำหน่ายเรื่องได้อยู่แล้ว ไม่คิดว่าเสียเวลา เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.เองก็รับหลายเรื่องที่ผู้ร้องไม่มีอะไรเลยนอกจากการตัดข่าวหนังสือพิมพ์ ดังนั้นการให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายจึงไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างภาระให้แก่ ป.ป.ช.จึงควรเปิดกว้างในส่วนของนิยามคำว่าผู้เสียหาย และเห็นว่าในร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีการใช้ประโยชน์จากงานวิชาการ การทำงานขององค์กรภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามาเชื่อมโยงน้อยเกินไป อยากให้ปรับปรุงเพราะกฎหมายมีความสำคัญมาก เนื่องจากตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาเรื่องการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น