xs
xsm
sm
md
lg

“ทวีเกียรติ” มองเหตุการณ์สงบน่ากลัวยิ่งกว่า ย้ำต้องมีศาล รธน.-ยุติธรรมไว้ชี้ขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ตุลาการศาล รธน.บอกสังคมขัดแย้งไม่แปลก ชี้เหตุการณ์เงียบสงบน่ากลัวยิ่งกว่า ระบุคดี ส.ส.เสีบบัตรแทนกัน วิธีการได้มาด้วยเสียงข้างมากมิชอบด้วย กม. ย้ำจำเป็นต้องมีศาล รธน.-ศาลยุติธรรมเพื่อชี้ขาด แม้ไร้ตัวบทกฎหมาย แต่ยึดหลักจารีตประเพณีได้ “อุดม” เผย รธน.ใหม่ให้ความสำคัญอำนาจหน้าที่ศาล รธน.เปิดช่อง ปชช.เข้าถึงมากที่สุด

วันนี้ (28 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไทย” โดยนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมบรรยาย

นายทวีเกียรติกล่าวตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญยึดตามกฎหมาย ไม่ออกนอกกฎหมาย เป็นเรื่องของคอนเซ็ปต์และความขัดแย้ง ตลอดเวลาช่วง 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดความขัดแย้งมาตลอด หากว่าในปัจจุบันจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็คงไม่แปลก แต่ถ้าเงียบตนว่าน่ากลัวมากกว่า ขณะที่เราเรียนรัฐธรรมนูญเราไม่รู้ว่าตัวรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร จะเผด็จการหรือไม่ หน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องตีความกฎหมาย ตีความตามตัวอักษร จารีตประเพณี และบทกฎหมายใกล้เคียง หลักกฎหมายทั่วไป ดังนั้น การตีความขัดกฎหมายหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ และศาลยุติธรรมในการใช้ดุลพินิจพิจารณา

“ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา นักกฎหมายมักชอบพูดว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่เรามักจะลืมไปว่าการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่วิธีการที่ได้มาไม่ชอบก็มี เช่น เรื่องการที่ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน โดยหลักนั้นหากโหวตเสียงข้างมากก็ชอบด้วยกฎหมาย แต่กระทำให้ได้เสียงข้างมากได้มาด้วยการมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเราวางหลักว่าเรื่องนี้ชอบด้วยกฎหมาย ต่อไป ส.ส.ก็ไม่ต้องมาประชุมกัน เราจึงพิจารณาว่าอะไรเสียหายมากกว่ากัน” นายทวีเกียรติกล่าว

นายทวีเกียรติกล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้เมื่อไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็ต้องวินิจฉัยตามจารีตประเพณี ก็คงไม่มีใครจะตัดสินได้นอกจากศาล ตัวอย่างเช่น คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ความอยุติธรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย นี่คือนิติรัฐ ใช่หรือไม่ แต่ความเป็นธรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกว่านิติธรรม หรือไม่ ถ้าเรายืนยันหลักนี้ คนที่ทำถูกต้องถามกฎหมายไม่ต้องกลัวหน้าไหนทั้งนั้นจริงหรือ แต่นิติรัฐ นิติธรรม คือการที่เราคิดระบบขึ้นไว้แค่แนวทางในการดำเนินการ แต่ในที่สุดกฎหมายคนเป็นคนเขียนคนสร้างขึ้นมา ในที่สุดกฎหมายเป็นเพียงกฎ แต่คนเป็นผู้ชี้ขาด มันจึงมีข้อถกเถียงได้เสมอ นอกเสียจากว่าหลักนิติธรรมอยู่ในใจของทุกคน ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองไม่ต้องให้ใครมาชี้มาตัดสิน

จากนั้นได้มีการอภิปรายเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยมีนายอุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ก่อนยึดอำนาจ 2557 เราเห็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปชี้ขาดยุบพรรค เรื่องกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งทำได้ทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่เราเห็นความสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญ เวลายกร่างฯ จึงถูกสนใจในหมวดอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก สิ่งเหล่านี้มีมาดั้งเดิม อะไรก็โยนให้ศาลรัฐธรรมนูญ กลายจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือใครหรือไม่ เป็นเรื่องที่เรากังวล จึงให้องค์กรอิสระอื่นมาประชุมกันว่าอะไรที่ไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะเดินอย่างไร เพื่อให้มีทางไป

นายอุดมกล่าวว่า เมื่อไหร่ที่รัฐธรรมนูญเขียนแล้วคนไม่เห็นพ้องด้วยจะเป็นปัญหามาก อยากเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้น ทำให้บทบาทผู้ตีความจะมีบทบาทมาก อันนี้เราอยากเห็น แต่ทุกฝ่ายไม่มีใครไว้วางใจใคร ภาพในสังคมก็ไม่อยากให้มีองค์กรใดมาชี้ขาด เพียงองค์กรเดียว ศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกตั้งคำถามว่าไว้วางใจได้หรือไม่ จึงมีการกำหนดคุณสมบัติตุลาการ สิ่งที่สำคัญทำอย่างไรให้คนไว้ใจได้ เราเชื่อว่าคือคุณสมบัติที่เข้มข้น เพราะอยากให้คนมั่นใจ เราให้ความสำคัญมาก สำหรับ ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญคือเรื่องอำนาจที่เราอยากเห็นให้ประชาชนเข้าถึงเรื่องการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญได้ ก่อนหน้านี้ก็มี ถ้าไม่มีทางใดที่จะตรวจสอบได้ ก็ให้มาที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมานั่งคิดว่าตรงไหนอย่างไรที่ประชาชนไม่มีทางออก เราไม่เชื่อว่าการที่ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว แต่ยังมีร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นว่าคดีไม่จบไม่สิ้น

ทั้งนี้ ภายในห้องอภิปรายมีการตั้งคำถามถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ และความเป็นธรรมในการตัดสินคดีเป็นธรรมเป็นกลางหรือไม่ นายอุดมตอบว่า ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญมาจาก 2540-2550 ที่เป็นที่ยอมรับ รัฐธรรมนูญนี้มาปรับแก้คุณสมบัติเท่านั้น ส่วนการพิจารณาเป็นธรรมเป็นกลางหรือไม่นั้น ถูกบัญญัติอยู่ในวิธีพิจารณา ซึ่งการทำคำวินิจฉัยส่วนตนนั้นตุลาการต้องรับผิดชอบต่อการพิจารณา ส่วนจะออกคำวินิจฉัยตั้งแต่แรกหรือขั้นตอนไหนจะพยายามทำให้รัดกุมมากขึ้น ส่วนเรื่องระยะเวลาการพิจารณาคดีคงต้องเอามาพิจารณา เชื่อว่าใช้เวลาน้อยมีหลายกรณีอาจวางกรอบให้ หรือมีทางปฏิบัติที่ผ่านมาทำอย่างไร ถ้าเรื่องเร่งด่วนจะมีวิธีการอย่างไร หรือกำหนดให้กระชับได้หรือไม่ ส่วนเรื่องจะเป็นตุลาการต่อหรือไม่หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้นั้น ที่ผ่านมาองค์กรอิสระให้เป็นตามคุณสมบัติใหม่ ใครอยู่ได้หรือไม่ได้ ให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัย ไม่ได้มีธงใครอยู่ได้หรือไม่ได้ และอยู่ที่ สนช.กับคณะกรรมการสรรหาตีความว่าจะใช้กับคนที่อยู่เดิมอย่างไรบ้าง

ด้านนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เรื่องการบริหารจัดการคดีมีระเบียบอยู่ ด่วนที่สุดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 30 วัน 60 วัน เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเมือง ขณะนี้เรามองถึง อี-คอร์ท มีอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปจะรวดเร็วยิ่งขึ้น ความเป็นธรรมมีอยู่แล้วตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น