xs
xsm
sm
md
lg

วิป สนช.รับเร่งผ่าน กม.ถี่หวังหนี ม.77 คาดสัปดาห์หน้าได้ข้อสรุป กม.ลูก กกต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิริธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผย สนช. ต้องเร่งพิจารณากฎหมายถี่ เหตุกลัวมีปัญหาตาม ม.77 รับมีอีกหลายฉบับยังไม่เข้าวาระ รับยังมึนรัฐ หรือสภาต้องเป็นผู้ศึกษาผลกระทบ ชี้ ปมสิ่งแวดล้อม ชุมชน ต้องดูทำอย่างไรจึงจะครบตามเจตนารมณ์ รธน. คาด สัปดาห์หน้าได้ข้อสรุปศึกษากฎหมายลูก กกต. จ่อเชิญนักวิชาการฟัง ก่อนชง กรธ. ต่อ

วันนี้ (25 มี.ค.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงการบรรจุวาระการประชุม สนช. ที่มีกฎหมายค่อนข้างมาก ว่า สนช. ต้องเร่งพิจารณากฎหมาย เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาตามมาตรา 77 วรรคสองของรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งแม้จะนัดประชุมถึง 3 วัน แต่ก็ยังมีกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับยังไม่ได้บรรจุในวาระ อย่างไรก็ตาม การพิจารณากฎหมายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะต้องรับฟังความเห็นและศึกษาผลกระทบนั้น คงต้องดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะขณะนี้ก็ยังตีความกันเป็น 2 ทาง คือ มองว่าการเสนอกฎหมาย คือ รัฐ หมายถึง รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ศึกษา ขณะที่ฝ่ายตีความว่าเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ซึ่งกฎหมายที่เกรงว่าจะเป็นปัญหา คือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น ทรัพยากรน้ำ จะต้องพิจารณาว่าเราได้รับฟังความเห็นรอบด้านหรือยัง ต้องทำประชาพิจารณ์อย่างไรจึงจะครบตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีคำสั่งนัดประชุม สนช. ครั้งที่ 21/2560 เป็นพิเศษในวันที่ 29 มี.ค. ครั้งที่ 22/2560 ในวันที่ 30 มี.ค. และครั้งที่ 23/2560 ในวันที่ 31 มี.ค. โดยมีวาระคือการพิจารณากฎหมายสำคัญหลายฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ การประชุม สนช. นัดพิเศษ ในวันที่ 29 มี.ค. มีวาระสำคัญคือ การดำเนินการกระบวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ ออกจากตำแหน่งจากกรณีการออกหนังสือเดินทางให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ โดยเป็นขั้นตอนการรับฟังคำแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาของคู่กรณี คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และ นายสุรพงษ์ ผู้ถูกกล่าวหา ก่อนที่จะนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนในการประชุม สนช. วันที่ 30 มี.ค. ทั้งนี้ เป็นสัปดาห์ที่มีการเรียกประชุม สนช. ถึง 3 วัน ซึ่งโดยปกติจะประชุมเพียง 2 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตอาจเป็นเพราะกระบวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หากล่าช้าออกไปจนรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้กระบวนการอาจไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากรัฐธรรมใหม่ได้ ตัดอำนาจการถอดถอนของวุฒิสภาซึ่ง สนช.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนี้ออกไป

นอกจากนี้ นพ.เจตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง สนช. ยังเปิดเผยว่า คณะกรรมการได้วางกรอบการทำงานโดยมีการประชุมพิจารณาทุกสัปดาห์ ซึ่งในสัปดาห์หน้าก็จะเสร็จสิ้นได้ข้อสรุปแล้ว โดยการศึกษาที่ผ่านคณะกรรมการได้นำประเด็นที่ กรธ. และ กกต. เห็นไม่ตรงกันในร่างกฎหมายมาพิจารณาศึกษาถึงข้อดีข้อเสียว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งได้เชิญหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้ง กรธ. กกต. นายโคทม อารียา น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ มาแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ยังเห็นขัดแย้งกัน อย่างเช่น ควรจะยังมี กกต. จังหวัด หรือไม่ หรือเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง การสิ้นสภาพขององค์กร กกต. หรือการเซตซีโร่ใหม่ ซึ่งเราต้องฟังความรอบด้านก่อนที่จะสรุปความเห็นในแต่ละประเด็นเพื่อจัดทำรายงานเสนอต่อ กรธ. ใช้ประกอบในการจัดทำร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. ซึ่งขณะนี้ กรธ. ก็ยังคงพิจารณาอยู่ และ สนช. ก็ยังไม่ได้เห็นร่างกฎหมายดังกล่าวเลย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ สนช. ก็จะมีการสัมมนาเพื่อหาข้อสรุปในร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญต่อไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น