xs
xsm
sm
md
lg

โพลหนุนใช้มาตรการพิเศษเช็กภาษีนักการเมือง สับสรรพากรเลือกปฏิบัติ มีประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรุงเทพโพลล์ ชาวบ้าน 20.5% เชื่อ สอบภาษี 60 นักการเมืองย้อนหลังเป็นเกมการเมือง หวังเล่นงานฝ่ายตรงข้าม 61.4% ชี้ ไม่กระทบปรองดอง 40.1% คาด สรรพากรไม่เช็ก เหตุมีผลประโยชน์ทับซ้อน 81.5% หนุนใช้มาตรการพิเศษตรวจสอบ 50% สับกรมตรวจสอบเลือกปฏิบัติ 39.1% แนะให้ ป.ป.ช. ชี้ชัดใครควรโดนย้อนหลัง

วันนี้ (25 มี.ค.) กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง การตรวจสอบภาษีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใครผิด ใครถูก” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทุกภูมิภาค 1,216 คน พบว่า ประชาชนเชื่อว่า กรณี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งสรรพากรตรวจสอบภาษี 60 นักการเมืองยุค รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีสาเหตุมาจาก ร้อยละ 20.5 เป็นเกมทางการเมืองเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามร้อยละ 17.8 เป็นกระบวนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองเมื่อหมดวาระ ร้อยละ 14.2 นักการเมืองตั้งใจโกง ร้อยละ 13.3 กรมสรรพากรละเลยหน้าที่ ร้อยละ 12.7 สตง. แสดงบทบาทหน้าที่ตรวจสอบเงินของแผ่นดิน ร้อยละ 12.0 สตง. และ กรมสรรพากรถูกอิทธิพลนักการเมืองในรัฐบาลยุคก่อน และ ร้อยละ 9.5 นักการเมืองลืมยื่นแบบ ยื่นไม่ครบ

เมื่อถามว่า การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของ 60 นักการเมือง จะกระทบกับโรดแมปความปรองดอง สมานฉันท์หรือไม่ ร้อยละ 61.4 ไม่กระทบความปรองดอง
เพราะการเสียภาษี เป็นหน้าที่ต้องพึงปฏิบัติอยู่แล้ว การปรองดองไม่ควรเชื่อมโยงกับการละเว้นความผิด และ ร้อยละ 38.6 กระทบความปรองดอง เพราะอาจเกิดกระแสการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน อาจสร้างความไม่พอใจต่อนักการเมือง

เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดกรมสรรพากรจึงไม่มีการตรวจสอบภาษีของนักการเมืองตามที่ สตง. แจ้ง ตั้งแต่ต้นปี 2558 ร้อยละ 40.1 มีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีการเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง ร้อยละ 27.9 มีกระบวนการดำเนินงานและตรวจสอบล่าช้า ร้อยละ 16.6 เกรงกลัวอิทธิพลของนักการเมือง และ ร้อยละ 15.4 กลัวมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เมื่อถามว่า ควรจะมีการใช้มาตรการพิเศษเข้ามาในกระบวนการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของนักการเมืองหรือไม่ ร้อยละ 81.5 ควรมี ร้อยละ 11.3 ไม่ควรมี และ ร้อยละ 7.2 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความเห็นต่อการตรวจสอบภาษีนักการเมืองในบ้านเรา ร้อยละ 50 มีการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เอื้อประโยชน์ต่อการเลี่ยงภาษี ร้อยละ 30.2 มีกระบวนการตรวจสอบที่ล่าช้า ร้อยละ 14.1 มีกระบวนการตรวจสอบที่ดี บริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่ละเลยผู้กระทำผิด และร้อยละ 5.7 มีกระบวนการตรวจสอบที่รวดเร็ว และเมื่อถามว่า การชี้ชัดว่านักการเมืองคนใดเข้าข่ายควรถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลังหรือไม่ ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ร้อยละ 39.1 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้อยละ 31.9 กรมสรรพากร ร้อยละ 29.0 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
กำลังโหลดความคิดเห็น