xs
xsm
sm
md
lg

คสช.จัดเวทีพลังงาน 3 จว.ใต้ 27 มี.ค.ให้ สนพ.-กฟผ.แจง ยันไม่ใช่ข้อสรุปไปสร้างโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (แฟ้มภาพ)
เลขาธิการ คสช.เผยจัดเวทีสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานใต้ที่กระบี่ สุราษฎร์ฯ สงขลา 27 มี.ค. ขนพลังงาน มหาดไทย กระทรวงทรัพย์ กรมทรัพยากรทางทะเลฯ กรมควบคุมมลพิษ กฟผ.แจงช่วงเช้า ส่วนตอนบ่ายถามความเห็นให้อาจารย์นิด้าคุมเวที ยันต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ระบุไม่ใช่ข้อสรุปนำไปสร้างโรงไฟฟ้า

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ในวันที่ 27 มีนาคม คสช.ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายปกครองได้จัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ที่จังหวัดกระบี่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด พร้อมเปิดเวทีรับทราบความคิดเห็นจากประชาชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดบรรยากาศความปรองดอง โดยจะนำความคิดเห็นของประชาชนรายงานจากเวทีต่างๆ รายงานต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไป

พล.อ.เฉลิมชัยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความห่วงใยสถานการณ์พลังงานของประเทศ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะภาคใต้มีการประกอบอาชีพในด้านประมง ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรม ตลอดจนด้านธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนทั้งสิ้น

พล.อ.เฉลิมชัยยังกล่าวยืนยันถึงความจำเป็นของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ว่าต้องดำเนินการเร่งด่วน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรับทราบความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2560 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 5/2560 เพื่อดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ อันเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดเวทีครั้งนี้ขึ้น ประกอบด้วย คสช. กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า เวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ จัดในวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2560 พร้อมกัน 3 เวที ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้แทนประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ และภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เวทีที่ 1 จัดที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,360 คน เวทีที่ 2 จัดที่โรงแรมเมอริไทม์ จังหวัดกระบี่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,380 คน เวทีที่ 3 จัดที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด คือ พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,480 คน

พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า สำรับกิจกรรมในภาคเช้าเป็นการนำเสนอข้อมูลจากภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน (พน.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นำเสนอสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในพิ้นที่ภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมและความเป็นไปได้เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำเสนอข้อพิจารณาผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนกิจกรรมในภาคบ่ายเป็นการนำเสนอความคิดเห็นจากผู้แทนในจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้ควบคุมเวทีและสรุปข้อมูลความคิดเห็นทั้งหมด เพื่อจัดทำรายงานนำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

“การนำเสนอความคิดเห็นในเวทีนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปที่ คสช.และรัฐบาลจะนำไปประกอบการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้า แต่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการรับทราบความเห็นของคนในพื้นที่เพื่อหาทางออกให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติด้วย” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น