รองนายกรัฐมนตรีปาฐกถา กฎหมายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ชี้รัฐบาลจะไม่ได้มีหน้าที่แค่บริหารอย่างเดียว แต่เพิ่มปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติย้ำต้องทำ รวมทั้งสร้างปรองดอง ชี้เมื่อ รธน.ประกาศใช้ทุกอย่างจะเริ่มนับ 1 หน่วยไหนจะเบิกงบทำอะไรต้องให้สอดคล้องกับแผนฯ ด้วย ยันมีเลือกตั้งแน่แต่ตอบเวลาชัดๆ ไม่ได้
วันนี้ (22 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เมื่อเวลา 11.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่องการปฏิรูปในความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อกฎหมายที่จะต้องทำภายหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ช่วงนี้จะได้ยินคำว่าคณะกรรมการ ป.ย.ป.บ่อยขึ้น โดยมาจากคำว่าปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ และสามัคคีปรองดอง คำเต็มก็คือคณะกรรมการบริหาราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ทั้งนี้ รัฐบาลนั้นมีหน้าที่บริหารประเทศ สภามีหน้าที่ออกกฎหมายและควบคุมรัฐบาล ส่วนศาลมีหน้าที่ตัดสินคดี คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตบทบาทของเขามีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา อย่างที่ทราบกันว่าเหตุการณ์ไม่ค่อยจะเป็นระเบียบ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ออกมาได้เขียนเอาไว้ให้ส่งต่อไปให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะออกไม่กี่วันข้างหน้า ทั้งรัฐบาลวันนี้ และรัฐบาลต่อจากนี้ไป ไม่ได้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินเพียงอย่างเดียว อย่างที่เข้าใจกันมาตลอด 80 ปีที่ผ่านมา หากแต่มีภารกิจเพิ่มขึ้นมา
นายวิษณุกล่าวว่า สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือการปฏิรูป ไม่ใช่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คิดขึ้นมาเอง ฝันขึ้นมาแล้วออกมาพูด และไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาหาเสียง แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะบังคับไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราว และฉบับที่กำลังเตรียมประกาศใช้ ถ้าไม่ทำก็เกิดเรื่อง รัฐบาลอยู่ไม่ได้ อีกภารกิจก็คือยุทธศาสตร์ชาติ สมัยก่อนก็มี แต่พูดกันลมๆ แล้งๆ พูดกันแบบนโยบาย พูดกันแบบหาเสียง แต่ตอนนี้ต้องพูดกันในฐานะที่เป็นบทบังคับตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ เป็นเรื่องต้องทำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการสร้างความสามัคคีปรองดอง รัฐบาลในอดีตก็เคยพูด แต่สถานการณ์ยังไม่บีบบังคับเพราะความแตกแยกยังไม่สูง การสร้างความปรองดองในอดีตจึงแค่ทำให้คนอยู่รวมกันได้โดยไม่ขัดแย้ง แต่สิบปีที่ผ่านมาบ้านเมืองนั้นขัดแย้งหนัก เราจึงต้องชูประเด็นเรื่องสามัคคีปรองดองเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องทำ
“การจะขับเคลื่อนงานพิเศษนี้ให้ได้ งานบริหารราชการปกติเรามี ครม.อยู่แล้ว ก็ทำไป ส่วนปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ สามัคคีปรองดอง ถ้าไม่มีใครทำรัฐบาลก็ทำไป แต่เพื่อให้ขับเคลื่อนงานให้เร็วขึ้นนายกฯ จึงใช้อำนาจ ม.44 ตั้งคณะ ป.ย.ป.ขึ้น” นายวิษณุกล่าว
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญใหม่ยังไม่ได้ประกาศใช้ ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าจะประกาศใช้ในไม่ช้านี้ เมื่อประกาศแล้วใช้แล้ว อะไรต่ออะไรก็จะเริ่มนับ 1 ใหม่ การนับระยะเวลาจะเป็นรูปธรรมขึ้น แม้อาจจะไม่ 100% ก็ตาม โดยในส่วนที่เกี่ยวกับ ป.ย.ป.ก็ยังเดินหน้าต่อไป แต่จะเป็นช่วงขาลง เพื่อส่งให้คนอื่นสานงานต่อ ถ้าเฉพาะเรื่องปฏิรูป สิ่งแรกที่จะทำคือ รัฐบาลต้องส่ง พ.ร.บ.ปฏิรูป พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 2 ฉบับนี้ถือเป็นฝาแฝดกัน ขณะนี้ร่างเสร็จแล้ว เตรียมเข้าสู่สภา ได้กำหนดไว้ว่าการปฏิรูปประเทศ ต้องอิงรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าต้องปฏิรูปอย่างน้อย 7 ด้าน ให้มีคณะกรรมการอย่างน้อย 7 ชุด แต่ละชุดมี 15 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยนายกฯ จะเป็นข้าราชการหรือไม่ก็ได้ โดยมีวาระ 5 ปี และมีหน้าที่ร่างแผนปฏิรูปในด้านของตัวเอง เมื่อร่างแผนเสร็จแล้ว ก็ไปถามประชาชน และถามความเห็นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วน พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์นั้นได้ระบุให้มีคณะกรรมการกลางชุดหนึ่ง โดยให้นายกฯเป็นประธานโดยตำแหน่ง ซึ่งก็จะมีผู้ดำรงตำแหน่งจากภาคส่วนอื่นๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมแล้ว 15 คน มีวาระ 5 ปี ยกเว้นคนที่เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งอย่างนายกฯ ส่วนคนที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นคณะกรรมการอีกชุด แล้วนำร่างยุทธศาสตร์ชาตินั้นไปรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้วปรับปรุงเพื่อเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าเห็นด้วยก็ส่งให้สภาพิจารณา และถวายบังคมทูล ประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยืนยันว่าแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้นแก้ไขได้ แต่ต้องทำตามขั้นตอนนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ที่คิดไว้คร่าวๆ น่าจะมีประมาณ 6 ด้าน 1. ด้านความมั่นคง 2. ศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ 3. การพัฒนากำลังคนความสามรรถ 4. พัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 5. พัฒนาลดความเหลื่อมล้ำ 6. พัฒนาในด้านกฎระเบียบของรายการ ดังนั้นต่อจากนี้หน่วยงานไหนจะเบิกงบทำโครงการอะไร ก็ต้องตอบให้ได้ว่า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านไหนด้วย
เมื่อถามว่า การเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องดูที่โรดแมป หรือที่เรียกว่าแผนและขั้นตอน เป็นการระบุว่าทำอะไรก่อนหลัง และควรทำอะไรเมื่อไหร่ ถ้าจะขอเวลาชัดๆ ตนตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ากฎหมายของ กรธ.จะเสร็จเมื่อไหร่ แต่จะเอ้อระเหยในการทำกฏหมายลูกไม่ได้ ส่วนจะใช้เวลาเที่ยงคืนในวันสุดท้ายก็ไม่มีใครว่า แต่สุดท้ายทุกอย่างก็นำไปสู่การเลือกตั้งแน่นอน