อดีตประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว ให้การศาลฎีกาคดี “ยิ่งลักษณ์” ผิด ม.157 ปล่อยจำนำข้าวทำรัฐเสียหาย อ้างกฤษฎีกาคอนเฟิร์ม ป.ป.ช. ไร้อำนาจสั่งระงับโครงการจึงเดินหน้าต่อ ยัน “ปู” ไม่ได้ละเว้นงาน สั่ง “บุญทรง” ให้เช็กพิรุธจำนำ ถ้าผิดให้จับกุม พร้อมสั่งรายงานโดยตรง แต่เจ้าตัวแจ้งว่าไม่พบ ก่อน ป.ป.ช. จะพบมีมูล ชี้หากสมรู้ร่วมคิดคงไม่ปลด รมว.พาณิชย์ ออก
วานนี้ (17 มี.ค.) ที่ศาลฎีกา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเพื่อขึ้นเบิกความในฐานะพยานจำเลยในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ให้การว่า หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงนโยบาย วันต่อมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือท้วงติงโครงการมาถึงรัฐบาล รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีหนังสือแนะนำอีกให้รัฐบาลยุติโครงการ จึงได้นำเรื่องไปปรึกษาข้อกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนผลงานวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ ป.ป.ช. นำมาอ้างก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้ เพราะนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาจะมีผลผูกพันต่อรัฐสภา รัฐบาลจึงไม่สามารถยกเลิกโครงการได้
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ความเห็นดังกล่าวเป็นการตอบคำถามของรัฐบาลในที่ประชุม ไม่มีการบันทึกไว้ ส่วนการตั้งกระทู้ถามเรื่องการระบายข้าวในการอภิปรายในสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง และได้สั่งการให้ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการระบายข้าว ดำเนินการตรวจสอบประเด็นที่มีการอภิปราย หากพบว่ามีความผิดก็ให้จับกุม อย่าไปหวาดกลัวกลุ่มอิทธิพล และรายงานต่อที่ประชุม ครม. ทุกครั้ง
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ส่วนที่ ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ไม่ได้รับผิดชอบในส่วนนี้ แต่ทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์, คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีภารกิจโดยตรงรับผิดชอบตรวจสอบ หลังสั่งการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยให้รายงานผลการตรวจสอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบการทุจริตระบายข้าวแล้ว ขณะเดียวกัน ป.ป.ช. ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตรวจสอบทุจริตระบายข้าวควบคู่กันไป
“ผมไม่รู้จักสยามอินดิก้า และ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ เสี่ยเปี๋ยง ส่วนการตรวจสอบ นายบุญทรง ได้รายงานในที่ประชุม ครม. ทางวาจา ว่า ไม่พบการทุจริต แต่หลังจากนั้นไม่นาน คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. มีความเห็นว่าคดีมีมูล กระทั่งวันที่ 30 มิ.ย. 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งปลดนายบุญทรง ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีข้อบกพร่อง ถ้าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดคงไม่มีการปลด” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว