xs
xsm
sm
md
lg

ปมเจ๊ง “ปาล์มอินโดฯ” ลาม เมื่อ “แพะ” ฮึดสู้ “ไอ้โม่ง” มีหนาว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

เงียบหายไปนานกรณี “มหากาพย์ปาล์มอินโดนีเซีย” ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ.ปตท.) โดยบริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (PTTGE) ไปลงทุนโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อหลายปีก่อน แล้วปรากฎว่า “เจ๊งอย่างไม่เป็นท่า” โดยมีเรื่องราวที่เข้าข่ายการทุจริต-ความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอย่างประการ

ทั้งการจัดซื้อที่ดินในราคาสูงเกินจริง และเป็นพื้นที่ทับซ้อนป่าสงวน การจ่ายค่านายหน้าให้แก่ล็อบบี้ยิสต์หลายราย จนสรุปตัวเลขความเสียหายของ บมจ.ปตท.ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท และประกาศถอนกิจการทั้งหมด ก่อนจะมีการตั้งคณะกรรมการภายใน ปตท.เองขึ้นมาตรวจสอบหลายชุด รวมทั้งส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงด้วย

แม้เรื่องราวยังไม่สรุป แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2558 คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ได้มีมีมติให้ “นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ปตท.สผ.ในขณะนั้น พ้นสภาพพนักงาน ในฐานะที่เป็น ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์มที่ประเทศอินโดนีเซีย

โดนนายนิพิฐถูกกลล่าวหาว่า “เป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่ฯ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เนื่องจากมีการซื้อที่ดินเป็นที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนเป็นส่วนมาก ทำให้ไม่สามารถขอให้หน่วยงานในประเทศอินโดนีเซียออกเอกสารแสดงสิทธิในการทำเกษตรกรรมได้ ส่วนที่ดินที่เหลือไม่ทับซ้อนป่าสงวนก็เหลืออยู่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และยังมีค่านายหน้าในการจัดซื้อที่ดินที่สูงกว่าผิดปกติถึงร้อยละ 40 เป็นต้น”

จากนั้น บมจ.ปตท.และ PTTGE ก็ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนกว่า 2 หมื่นล้านบาทจากนายนิพิฐอีกด้วย

แต่ในระหว่างที่รอการไต่สวนของ ป.ป.ช. รวมทั้งรอคำพิพากษาจากศาล นายนิพิฐซึ่งประกาศมาตลอดว่าเป็น “แพะรับบาป” ก็เริ่มเคลื่อนไหวตีโต้เรื่องที่ถูกกล่าวหา จนเป็นจำเลยสังคมแต่เพียงผู้เดียวมาตลอด โดยเมื่อวันที่ 1 มี.ค.60 นายนิพิฐ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อเอาผิด ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. พร้อมกับบรรดาผู้บริหารบริษัทในเครือ ปตท. ไล่ตั้งแต่ วิชัย พรกีรติวัฒน์ - สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ - รสยา เธียรวรรณ - สุรชัย สุขะหุต ในข้อหาร่วมกันทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ แจ้งความเท็จ และปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ซึ่ง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ตรวจคำฟ้องแล้วลงความเห็นว่า เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฯ และฟ้องเป็นตาม มาตรา 15ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 กำหนดไต่สวนมูลฟ้องในคดีดังกล่าวในวันที่ 16 - 17 ส.ค.นี้

เป็นการเริ่มบทใหม่ของ “มหากาพย์ปาล์มอินโดนีเซีย” ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า “มีความผิดปกติ” เกิดขึ้นจริง แต่ก็แปลกใจว่าเหตุใดนายนิพิฐจึงกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” เพียงคนเดียว เพราะตลอด 8 ปีแห่งความล้มเหลวของโครงการปาล์มน้ำมันอินโดนีเซียนั้น ยังมีผู้บริหารอีกหลายรายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กลับเป็นนายนิพิฐที่ถูกปลดและถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายรายเดียว

ในส่วนของโครงการปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซีย ของ PTTGE เริ่มต้นเมื่อปี 2550 จดทะเบียนที่สิงคโปร์ ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 40 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดย บมจ.ปตท. ถือหุ้น 100% เพื่อเป็นตัวแทนลงทุนโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์ม และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย นายนิพิฐได้ถูกดึงมาเป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม

ต่อมา ปตท.ได้พบว่ามีปัญหาในการซื้อสิทธิสัมปทานที่ดินบางแปลง และได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจนเป็นที่มาของการกล่าวหานายนิพิฐเคยให้สัมภาษณ์ผ่าน สำนักข่าวอิศรา ประกาศว่า “มั่นใจหนึ่งพันเปอร์เซ็นต์ ว่าไม่ได้ทำทุจริต”

พร้อมระบุว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ปตท.สผ. ดำเนินการไม่ถูกต้อง และแม้จะดำเนินการสอบไม่ถูกต้องก็ตาม แต่ท้ายสุดก็สรุปว่าตนไม่ได้ทุจริตในโครงการนี้ ดังนั้นในเมื่อไม่ผิด ไม่ทุจริต แล้วจะให้ออกได้อย่างไร จึงเตรียมฟ้องดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสอบสวนดังกล่าวแล้ว เช่น คณะกรรมการ ปตท.สผ.ที่มีมติดังกล่าว เป็นต้น และคงจะดำเนินการเลยไม่รอการคัดค้าน เนื่องจากทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เรียกคณะผู้บริหารบางคน เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีด้วย

“เรื่องนี้มีการนำเสนอเข้าบอร์ด ปตท.รับรู้รับทราบการขายที่ดินแล้ว ส่วนจะขายถูกขายแพงอย่างไร ใครที่นั่งอยู่ในบอร์ด ปตท.อยู่ย่อมรู้ดี ความเสียหายที่ ปตท. ฟ้องแพ่งไป ผมก็ไม่ได้ทำ ไม่มีความเสียหายจากผมเลย ทำไมถึงฟ้องผม และอีกเรื่องคือ ไล่ผมออกจาก ปตท.สผ. ที่ทำงานมากว่า 30 ปี และไม่ได้ไล่เฉยๆ ยังยึดเงินบำนาญทั้งหลายของผมด้วย ไม่ให้ผมเลยแม้แต่บาทเดียว” นายนิพิฐ เคยตั้งข้อสังเกตไว้

ความเคลื่อนไหวของ “นิพิฐ” ครั้งนี้จึงถือเป็นการเริ่มกระบวนการที่ที่เคยประกาศไว้ว่าจะ “ลากใครบางคน” มารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

สอดรับกับ “เงื่อนงำบางประการ” ที่ทำให้ บมจ.ปตท.เองก็ไม่เคยเปิดเผยผลการตรวจสอบการกระทำความผิดจากการตรวจสอบภายในต่อสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องความเสียหาย และความเชื่อมโยงของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อีกทั้งยังด่วนตัดสินใจอย่างผิดปกติในการประกาศยกเลิกการประกอบธุรกิจปลูกปาล์มที่อินโดนีเซีย โดยอ้างว่าขาดทุนต่อเนื่อง แต่ก็ยอมขายต่อโครงการไปในราคาที่ถูกกกว่าความเป็นจริง หรือขายขาดทุน ลุกลี้ลุกลนเหมือนซุกอะไรไว้ที่ “ใต้พรม”

เป็นความพยายามตัดความเชื่อมโยงทุกอย่าง แล้วโยนเรื่องไว้ที่ “นิพิฐ” คนเดียว ทั้งที่ความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายทั้งปวง ฝ่ายบริหาร ปตท. หรือกระทั่ง “นิพิฐ” เป็นแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้น

แต่มี “ไอ้โม่ง” เป็นถึง “รัฐมนตรีสั่งการ” ขาใหญ่ประจำกระทรวงพลังงานในยุคนั้นต่างหาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น