รองนายกรัฐมนตรี ฟังบรรยายสรุปศัตรูมะพร้าวระบาดที่ประจวบคีรีขันธ์ พบ 55 จังหวัดกระทบหนักรวม 131,864 ไร่ เผยนายกฯ สั่งแก้จริงจัง ขอเกษตรกรนำประสบการณ์ใช้จัดการ แนะแปรรูปเพิ่มมูลค่า เน้นการสร้างแบรนด์ให้ได้มาตรฐาน
วันนี้ (17 มี.ค.) ที่ห้องประชุมเกาะหลัก ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเวลา 14.30 น. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์การระบาดศัตรูมะพร้าว พร้อมลงพื้นที่ดูการระบาดหนอนหัวดำ และดูการผลิตขยายแตนเบียนบราคอน ณ ศูนย์จัดการพืชชุมชนบ้านหนองขาม ตำบลเกาะหลัก อำเภอเมือง โดยมีนายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น และเกษตรกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ สำหรับสถานการณ์การระบาดศัตรูมะพร้าวของประเทศไทย พบว่ามี 55 จังหวัดได้รับผลกระทบจากการระบาดของศัตรูมะพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมะพร้าว 131,864 ไร่ จากพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมดของประเทศจำนวน 1,240,874 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10.63 ของพื้นที่ปลูก พบการระบาดของศัตรูมะพร้าว 3 ชนิด ได้แก่ 1. หนอนหัวดำ พื้นที่ระบาด 29 จังหวัด จำนวน 78,954 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.36 ของพื้นที่ปลูก 2. แมลงดำหนาม พื้นที่ระบาด 19 จังหวัด จำนวน 48,957 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.95 ของพื้นที่ปลูก และ 3. ด้วงแรด พื้นที่ระบาด 20 จังหวัด จำนวน 3,953 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.32 ของพื้นที่ปลูก
ทั้งนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่การระบาดศัตรูมะพร้าวมากที่สุดของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 89.37 ของพื้นที่ระบาดทั้งประเทศ ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ดำเนินโครงการควบคุมและกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) แบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการใช้สาร emamectin benzoate 1.92% ฉีดเข้าลำต้นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ในอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อวัน (ยกเว้นมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ) ทำให้สถานการณ์การระบาดของหนอนหัวดำลดลง คิดเป็นร้อยละ 48.90 ของพื้นที่ระบาดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่การดำเนินโครงการยังไม่สามารถควบคุมและตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีต้นมะพร้าวที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ (ต้นมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร) ทางจังหวัดจึงได้ปล่อยแตนเบียนบราคอน ในอัตรา 200 ตัวต่อไรเพื่อช่วยกำจัดหนอนหัวดำ ทำให้ลดความรุนแรงการระบาด และตัดวงจรไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่แห่งใหม่ รวมถึงระบาดไปยังพืชชนิดอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย โดยใช้วิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ และบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตัวเอง ทำให้เกษตรกรจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตัวเอง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า ช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาเกิดการระบาดของศัตรูมะพร้าว แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว พร้อมสั่งการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งขอให้เกษตรกรนำประสบการณ์ที่ผ่านมาในการกำจัดศัตรูมะพร้าวมาเป็นต้นแบบในการแก้ไข และขอให้ส่วนราชการให้ความร่วมมือในการดำเนินการอย่างบูรณาการ
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การปลูกมะพร้าวในประเทศไทยมีแนวโน้มการปลูกมะพร้าวน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาศัตรูมะพร้าว รวมไปถึงเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นแทน ทำให้ผลผลิตมะพร้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในประเทศ ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าว และผู้ปลูกมะพร้าวรายเดิม จึงขอให้ส่วนราชการหามาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับมะพร้าว โดยเฉพาะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ดูแลสุขภาพ เน้นการสร้างแบรนด์ให้ได้มาตรฐาน ชู เป็นจุดเด่นของแต่ละจังหวัด ส่วนการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูมะพร้าวขอให้เกษตรจังหวัดลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ปลูกมะพร้าวบนพื้นฐานข้อเท็จจริงถึงวิธีการดำเนินการและประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้ผู้ปลูกมะพร้าวมีความเข้าใจอย่างแท้จริงลดความหวาดระแวงของผู้ปลูกมะพร้าว รวมถึงเพิ่มจำนวนบุคลากรในการลงพื้นที่ทำความเข้าใจให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ปลูกมะพร้าว
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอความร่วมมือผู้ปลูกมะพร้าว ส่วนราชการ และภาคเอกชนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป