xs
xsm
sm
md
lg

คณะผู้แทนพิเศษฯ เห็นชอบตั้งศูนย์ส่งเสริมการลงทุนชายแดนใต้ ดูอยู่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ถกทีมครั้งที่ 2 เลขาฯ คปต.ส่วนหน้า เผยที่ประชุมเห็นชอบตั้งศูนย์ส่งเสริมการลงทุนตามโครงการพัฒนาสามเหลี่ยม ด้านผู้แทนพิเศษฯ ระบุดูอยู่ยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ เล็งหาเครื่องมือจัดการพวกไม่อยากออกจากความขัดแย้ง ยันอยากให้มีเซฟตี้โซนทุกอำเภอ ชี้สถานการณ์เข้าสู่สันติวิธี กำลังศึกษาทำไมโครงการรัฐเข้าไม่ถึง ให้ สตช.แก้ปมสารวัตรเหลือน้อย

วันนี้ (16 มี.ค.) ที่ห้องสุรศักดิ์มนตรี กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เป็นประธานการประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ ครั้งที่ 2/2560

โดยนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการ คปต.ส่วนหน้า แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบตั้งศูนย์ส่งเสริมการลงทุน ตามโครงการ พัฒนาสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน ที่จะให้สิทธิพิเศษ การประสานงานของส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนการทำความเข้าใจภาคเอกชนที่ได้รับประโยชน์ จากนั้นนำเสนอข้อมูลโครงการ คือ แผนงาน 19 โครงการ ในปี 2560 ตามแผนงานปกติของส่วนราชการ จำนวนเงิน 1,700 ล้านบาท พร้อมทั้งพิจารณาโครงการเพิ่มเติมจำนวน 7 โครงการ จำนวน 774 ล้านบาท โดยใช้งบกลาง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะนำเสนอ คปต.คณะใหญ่ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ รัฐมองคนเห็นต่างที่ขึ้นมาต่อสู้ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน ซึ่งเราจะหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยหลักกฎหมาย ตามแนวทางสันติวิธี เดิมใช้มาตรา 21 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งพยายามดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ และแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้เราเตรียมศึกษาว่าจะยกเลิกพื้นที่ที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ พร้อมทั้งมีเครื่องมือในการดำเนินการต่อคนที่ไม่อยากออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งต้องหาทางดำเนินการแก้ไขกันต่อไป ขณะที่การทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ให้เข้าใจกฎหมายดังกล่าว เพราะจะมีด้านบวกด้านลบของพี่น้องประชาชน คนที่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ด้วย ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการเรียบเรียงให้ออกจากความขัดแย้งได้ ซึ่งพี่น้องประชาชนอยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วอยากให้ใช้ ม.21 แต่บางเรื่องกระบวนการที่ซับซ้อนคงความจำเป็นต้องใช้ แต่จะใช้อย่างไรให้เหมาะสม ก็จะเกี่ยวข้องกับงานที่ตนรับผิดชอบ คือการหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยตนได้ประสานงานกับภาคประชาชน ซึ่งมีการเตรียมยุทธศาสตร์ให้ประชาขนมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ตนเองว่าจะทำอย่างไร แทนรัฐเป็นผู้กำหนดเอง

เมื่อถามถึงการกำหนดพื้นที่เซฟตี้โซนในจังหวัดชายแดนใต้ พล.อ.อุดมชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะผู้คุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ตนคงตอบไม่ได้ แต่ความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าอยากให้เป็นพื้นที่เซฟตี้โซนทุกอำเภอเลย ทั้งทางรัฐบาลและประชาชนอยากให้เกิดขึ้นทุกอำเภอ แต่คู่พูดคุยจะรับได้ไหม ต้องว่ากันไป ตอนนี้คิดว่ากำลังเนินการทำความเข้าใจกันอยู่ว่าจะทำได้แค่ไหน

“ส่วนตัวคิดว่าบรรยากาศการพูดคุยกำลังดี เพราะได้กำลังใจจากทุกฝ่ายพร้อมทั้งคิดว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ มาถึงช่วงที่อยากเปลี่ยนจากความรุนแรงมาสู่สันติวิธี มีการพัฒนาร่วมกันเพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม มีความเป็นอยู่ที่ดี” พล.อ.อุดมชัยกล่าว และว่าตอนนี้คณะทำงานของตนกำลังศึกษาวิจัยเศรษฐกิจระดับฐานราก ร่วมกับภาคประชาสังคม โดยศึกษาว่าทำไมโครงการของรัฐทำไมลงไปไม่ถึง โดยเราจะรวบรวมเป็นหลักสูตร และสร้างเป็นบัณฑิตศึกษาขึ้นมาไปถ่ายทอดสู่พี่น้องประชาชน เพื่อเกิดความพัฒนาในพื้นที่ โดยประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

ด้าน พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องการสอบสวนคดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จากการปรับโครงสร้างของตำรวจในสายงานสอบสวน ทำให้กำลังพลในระดับสารวัตรขึ้นไปลดน้อยลง และบางส่วนครบกำหนดช่วยราชการในวันที่ 29 มีนาคมนี้ จึงอาจกระทบการสอบสวนคดีความมั่นคง การสอบสวนดังกล่าวต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ จึงเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ร่วมหาแนวทางแก้ไข โดยสอบถามความสมัครใจของบุคคลที่มาช่วยราชการให้อยู่ต่อ ซึ่งก็มีผู้ที่สมัครใจช่วยราชการต่อจำนวน 30 นาย จากทั้งหมด 138 นาย และเสนอการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน คือการขอพนักงานสอบสวนจากสถานีตำรวจภูธรภาคต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ และในระยะยาวเสนอให้มีการเปิดตำแหน่งระดับสารวัตรและรองผู้กำกับการขึ้นไป ในสายงานสอบสวนของสถานีตำรวจต่างๆ เพื่อให้มีกำลังพลเพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น