xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.คตง.ค้านไอเดียขึ้น VAT เป็น 8% ชี้สะท้อนสรรพากรขาดประสิทธิภาพ ไล่ไปเก็บภาษีมรดก-บี้รายได้ รสก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGR Online - ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ค้านความคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 1 ชี้เปิดช่องให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการ ประชาชนเดือดร้อน ตั้งคำถามสะท้อนกรมสรรพากรหย่อนประสิทธิภาพใช่หรือไม่ ยันรัฐบาลมีทางหารายได้อื่นเช่นจากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการบังคับใช้การจับเก็บภาษีมรดกและภาษีการรับให้ให้มีประสิทธิภาพ

จากกรณีที่วานนี้ (9 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวถึงงบประมาณของประเทศว่า ประเทศไทยอยู่ด้วยระบบทุนนิยมเสรีซึ่งเป็นรายได้ของประเทศ และมีภาษีจากข้าราชการที่มีการเสียภาษีเต็มจำนวนทั้งหมด ขณะที่ประชาชนจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ซึ่งยังอยู่ที่ร้อยละ 7 มาหลายปี แต่หากเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 จะทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาท

วันนี้ (10 มี.ค.) นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้คนจนต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการจะฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆ ค่าครองชีพของประชาชนจะเพิ่มขึ้น ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน อยู่อย่างยากลำบาก การมีแนวคิดว่าจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มนี้สะท้อนให้เห็นว่ากรมสรรพากรหย่อนสมรรถภาพในการเก็บภาษีเงินได้ (Income Tax) ซึ่งเป็นภาษีที่ดีและเป็นธรรมหรือไม่

“หากกรมสรรพากรและกรมจัดเก็บภาษีอื่นมีประสิทธิภาพ ไม่หย่อนสมรรถภาพ และรัฐบาลหารายได้อื่นโดยใช้รัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท.อย่างเต็มที่ ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษี การขึ้นภาษีครั้งนี้แสดงว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลขาดประสิทธิภาพใช่ไหม หลังจากที่ได้ลองใช้มาตราลดหย่อนภาษีมาแล้วแต่ไม่ได้ผลจึงมาใช้วิธีขึ้นภาษีใช่ไหม

กลุ่มคนที่เสียภาษีเงินได้มากที่สุด และหลีกเลี่ยงภาษีน้อยที่สุด คือ ลูกจ้างพนักงาน และข้าราชการ หรือมนุษย์เงินเดือน แต่เศรษฐีซึ่งเป็นผู้ประกอบการหรือนายทุนเสียภาษีไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เสียภาษีน้อยกว่าที่ควรเสีย และมีเป็นจำนวนมากที่หลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี เพราะมีผู้เชี่ยวชาญวางแผนเลี่ยงภาษีให้ (Tax Evasion/Abusive Tax Avoidance) และกรมสรรพากรไม่ได้บริหารจัดเก็บจากคนกลุ่มนายทุนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากมนุษย์เงินเดือนที่ทุกครั้งได้รับเงินเดือนค่าจ้างต้องเสียภาษีทันทีโดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) และทุกครั้งที่คนจนซื้อสินค้าหรือบริการ เช่น ซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ คนจนต้องเสียภาษีทันที เพราะสินค้าหรือบริการนั้นจะมีภาษีบวกอยู่ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ความเป็นธรรมในการเสียภาษีมีหรือไม่หรือมีแต่ความเหลื่อมล้ำของบุคคลในสังคม” ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินระบุ

ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ รัฐบาลควรคลอดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้แล้ว เพราะเป็นภาษีที่ดี สามารถลดความเหลื่อมล้ำของบุคลในสังคมได้ทำให้คนรวยมีบ้านราคาเป็นร้อยล้านมีที่ดินจำนวนมหาศาลต้องเสียภาษี เป็นกฎหมายที่สามารถลดการกว้านซื้อที่ดินและกักตุนที่ดินของนายทุนได้ ทำให้ลดการบุกรุกทำลายป่าของชาวบ้านเพื่อนำที่ดินมาขายให้นายทุนได้ ทำให้ที่ดินถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะถ้าไม่ใช้ประโยชน์ต้องเสียภาษีมาก” นายชัยสิทธิ์กล่าว

นายชัยสิทธิ์กล่าวอีกว่า การใช้มาตรา 44 เพื่อทำคลอดภาษีตัวนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากกว่าที่ คสช.ได้ใช้มาตรา 44 ให้ใช้ราคาที่ดินของปี 2521-2524 ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ในปัจจุบันเพราะการใช้ราคาที่ดินเกือบ 40 ปีมาแล้วมาใช้ในการเก็บภาษีปัจจุบันซึ่งราคาเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า ย่อมเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนที่ถือครองที่ดิน ไม่เป็นธรรมต่อประเทศชาติและประชาชน ขอเสนอแนะอีกครั้งว่าควรคลอดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งที่ถูกเตะล้มมาทุกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หากมาถูกเตะล้มโดยรัฐบาลนี้ รัฐบาลนี้จะได้ชื่อว่าทำเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินของประชาชนจริงหรือ และเรื่องสุดท้ายที่ขอเสนอแนะก็คือรัฐบาลควรดำเนินการให้มีการจัดเก็บภาษีการหุ้นชินคอร์ปจากบุคคลที่ต้องเสียภาษี 12,000 ล้านบาท ไม่ควรปล่อยให้คดีขาดอายุความ หากคดีขาดอายุความก็ควรดำเนินคดีกับรัฐมนตรีคลัง และอธิบดีกรมสรรพากรทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 154 และ 157

พร้อมกันนั้นยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรบังคับจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีการรับให้ให้มีประสิทธิภาพสามารถเก็บได้จริง เพราะแม้ภาษีสองตัวนี้ใช้มาเป็นปีแล้ว แต่ก็ยังเก็บไม่ได้เนื่องจากมีการหลีกเลี่ยงและการบริหารจัดเก็บของกรมสรรพากรไม่ดี

สำหรับคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีวานนี้นั้น ช่วงเย็นวานนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าไม่ได้มีการดำเนินการจริง เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่กระทรววงการคลังยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในปีนี้เป็นร้อยละ 8 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 เพราะมองว่าการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของเศรษฐกิจ และไม่ได้คำนึงถึงการเพิ่มรายได้เพิ่มเพียงอย่างเดียว ต้องมองถึงความเหมาะสมของเศรษฐกิจว่า หากขึ้นแล้วจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น