xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” เสนอจัดที่เลือกตั้งพิเศษสำหรับผู้พิการ ให้กาบัตรล่วงหน้าได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สัมมนาพัฒนาจัดที่เลือกตั้งสำหรับผู้พิการ หรือ ทุพพลภาพ “สมชัย” โอ่มีความปรารถนาแรงกล้าช่วยจริงจัง หวังปีหน้าจัดให้สะดวกที่สุด ชงจัดที่เลือกตั้งสำหรับผู้พิการเป็นพิเศษ กาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า จ่อคิดค้นมาตรฐานร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี

วันนี้ (9 มี.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้จัดการสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาการจัดที่เลือกตั้งสำหรับผู้พิการ, ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ โดยมี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารกลาง เป็นประธาน และ มีผู้แทนหน่วยงานสนับสนุนการลงคะแนนของคนพิการ หรือ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ผู้แทนของกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้แทนกลุ่มผู้พิการสามประเภทใหญ่ คือ ผู้พิการทางสายตา หู ผู้พิการทางกายภาพ และผู้พิการทางสติปัญญาที่ปัจจุบันมีผู้พิการทุกประเภทที่ขึ้นทะเบียนคนพิการไว้ 1.7 ล้านคนเศษทั่วประเทศไทยที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ และผู้แทนของมูลนิธิเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ อันเฟรล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ประสานความร่วมมือกับองค์กรจัดการเลือกตั้งทั่วทวีปเอเชียเข้าร่วม

นายสมชัย กล่าวเปิดสัมมนา ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีการเลือกตั้งหลายครั้ง แต่อดีตยังนึกถึงกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษน้อย กกต. ชุดนี้ มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะจัดให้มีการช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างจริงจัง และหวังว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดต่อไปราว 1 ปีข้างหน้า จะสามารถจัดอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด จากการได้ฟังจากสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงแนะนำมา

“โจทย์ใหญ่คือเราจะลงทุนทำระดับประเทศ หรือใช้วิธีการสำรวจแล้วจัดให้เฉพาะหน่วยที่มีผู้พิการแต่ละประเภท หรืออาจจะขอความร่วมมือสถานที่ ที่อำนวยความสะดวกแก่คนพิการอยู่แล้วในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เป็นศูนย์ลงคะแนนให้กับผู้พิการทางกายภาพอย่างที่พบว่ามีการทำที่ประเทศฟิลิปปินส์” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ ในการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา กกต. ได้ใช้เครื่องอ่านบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด ในการลงทะเบียนผู้มาใช้สิทธิ ซึ่งสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ และมีการจัดหน่วยออกเสียงประชามติเป็นพิเศษที่ที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 100 คน คือ ที่บ้านบางแค 1 บางแค 2 พบว่า ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนมาใช้สิทธิสูงถึง 90% ยกเว้นผู้ป่วยติดเตียง และกำลังจะขยายผลไปยังบ้านพักคนพิการอื่นๆ ต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า เช่น มูลนิธิพระมหาไถ่ที่ จ.ชลบุรี

นายสมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับใหม่ที่ กกต. ได้ร่างเสนอ กรธ. ได้บัญญัติในมาตรา 69 มีรายละเอียดเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการซึ่งมีรายละเอียดเกือบ 1 หน้าเต็ม ซึ่งมีผลบังคับต่อหน่วยเลือกตั้งทั้ง 9 หมื่นหน่วยในประเทศไทย โดยมาตราดังกล่าวมีสาระสำคัญในการเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ เช่น ให้อำนาจ กกต. จัดที่เลือกตั้งสำหรับผู้พิการเป็นพิเศษได้ การให้ญาติผู้ทุพพลภาพที่เจ้าตัวยินยอมเข้าไปช่วยกาบัตรในคูหาได้ โดยตนเสนอแนวคิดว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าจะช่วยให้สามารถอำนวยความสะดวกให้หาสถานที่สำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือหน่วยลงคะแนนที่สะดวก เพราะไม่จำเป็นต้องไปใช้สิทธิในหน่วยที่มีชื่ออยู่เท่านั้น

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้ประสานงานมูลนิธิอันเฟรล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิของคนพิการไม่ใช่สิ่งที่ต้องร้องขอ แต่เป็นสิ่งที่รัฐจะต้องจัดให้เขามีสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้อื่น การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ของสังคมประชาธิปไตย แต่หลายประเทศก็ยังต้องมีการเรียกร้อง เช่น คนหูหนวกเรียกร้องการได้รับข้อมูลการเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งและหน้าหน่วยเป็นต้น อันเฟรลได้เรียกร้องให้หลายประเทศสำรวจหน่วยเลือกตั้ง คูหาเลือกตั้งว่าทำให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์หรือไม่

“การเลือกตั้งในประเทศไทยเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศในเอเชียมาขอดูเป็นแบบอย่าง การจัดสถานที่เลือกตั้งหลายที่เกิดปัญหาทำให้ผู้พิการรู้สึกว่าไม่ได้รับการใส่ใจจนต้องถอยออกไปจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น หน่วยเลือกตั้งอยู่บนอาคารสูงหลายชั้นโดยไม่มีลิฟต์ บางประเทศมีการบริการให้ผู้พิการใช้สิทธิในโรงพยาบาล มีการดูแลไม่ให้ถ่ายรูปคนพิการที่มาใช้สิทธิ” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ด้านตัวแทนผู้พิการก็ได้สะท้อนปัญหาในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่ละครั้งและเสนอแนะแนวทาง มีทั้งสถานที่ไม่เอื้ออำนวย แม้จะจัดสถานที่อยู่ชั้น 1 แต่ก็มีปัญหาติดฟุตปาท การเข็นรถวีลแชร์เป็นไปด้วยความลำบาก การจัดหน่วยพิเศษเฉพาะผู้พิการทางสติปัญญา หรือการผลิตอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการใช้สิทธิโดยใช้สี โทนสี หรือเครื่องมือ IT อุปกรณ์ที่มีปุ่มเลขให้จิ้ม เพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสติปัญญา ออทิสติก ได้เข้าถึงการใช้สิทธิให้มากขึ้น การมีล่ามภาษามือสำหรับคนหูหนวกที่ไม่รู้หนังสือในหน่วยเลือกตั้ง อบรมกรรมการประจำหน่วยให้ทราบภาษามือในคำง่ายๆ เพื่อสื่อสารกับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่หูหนวก ปรับการให้ข้อมูลคนตาบอดเป็น 4.0 เช่น ใช้แอป หรือไลน์ ซึ่งมีโปรแกรมช่วยอ่านออกเสียงอยู่แล้ว

ทั้งนี้ นายสมชัย กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า สิ่งที่น่าสนใจที่ได้จากเวทีสัมมนาครั้งนี้ คือ ได้รับรู้ว่ายังมีคนจำนวนมากในสังคมไทยที่จำกัดด้วยศักยภาพทางร่างกาย แต่มีความตื่นตัวในสิทธิไม่น้อยกว่าคนอื่น กกต. จึงตระหนักในหลักการว่าทุกเสียงต้องมีสิทธิ กกต. ต้องหาวิธีการให้มาใช้สิทธิให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อให้คะแนนเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงโดยสิ่งที่ กกต. รับรู้มี 6 เรื่องสำคัญ 1. ทำมาตรฐานการจัดการเลือกตั้งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ ต้องคิดค้นร่วมกันระหว่าง กกต. กับ อันเฟรล ให้เป็นรายการมาตรฐานที่ต้องมีในทุกหน่วยเลือกตั้ง 2. ควรมีการจัดหน่วยเลือกตั้งพิเศษในสถานที่ที่หลากหลายกว่าที่ทำในปัจจุบันสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เช่น จัดที่สมาคมผู้พิการแต่ละประเภท 3. การประชาสัมพันธ์การให้ความรู้แก่คนพิการ ต้องมีช่องทางที่เหมาะสมให้ได้รับข่าวสารข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจก่อนวันเลือกตั้ง เช่น ล่ามภาษามือในสปอตของ กกต. รูปแบบเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา 4. ต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความรู้ และมีทัศนคติที่ดี รู้ธรรมชาติความต้องการ รู้จัดใช้เครื่องมือสื่อสารสำหรับผู้พิการ 5. หากมีความจำเป็นต้องแก้กฎหมาย ระเบียบ กกต. ก็ต้องผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 6. ต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ เช่น แอปพลิเคชันบนมือถือ เว็บไซต์ที่เหมาะสม โดยจากนี้จะมีการทำข้อสรุปนำเสนอต่อวงสัมมนาที่ใหญ่ขึ้นอีกระดับต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น