รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาใต้ร่มพระบารมี 16 ปี ศาลปกครอง ชูเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่รับเจอปัญหาการบังคับคดีไม่สมกับสิทธิ์ หรือคำพิพากษา รับรัฐอึดอัดปม ทวงคืนท่อก๊าซ ปตท.- ตั้งกังหันลมที่ดิน ส.ป.ก. เผยคิดยื่นธุรการศาลถามทำถูกต้องตามคำสั่งหรือยัง หรือไม่ก็ยื่นคำร้องให้มีคำสั่งใหม่ โวยบางคำวินิจฉัยเป็นอุปสรรคพัฒนาประเทศ ทำกลัวโดนหาว่าสั่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรหรือไม่
วันนี้ (9 มี.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ใต้ร่มพระบารมี 16 ปี ศาลปกครอง” ตอนหนึ่งว่า 16 ปี ของศาลปกครองก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งจากการกระทำ การวินิจฉัย และการทำงานของศาลปกครอง ซึ่งการพิจารณาคดีของศาลคู่กรณี คือ ประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเราเรียกรวมๆ ว่า รัฐ แต่ 16 ปี ก็มีปัญหาตกค้างที่เกิดขึ้นในใจของคน 2 กลุ่มนี้ คือ ฝ่ายประชาชนจะคิดว่าเมื่อศาลปกครองมีคำตัดสินแล้ว การบังคับคดียังไม่สามารถเยียวยาได้สมกับสิทธิ์ หรือสมกับสิ่งที่ศาลพิพากษาเอาไว้ เช่น ศาลปกครองตัดสินว่า การมีคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายไม่ถูกต้องให้มีการเพิกถอน แต่มีคำถามที่ตามมาว่าจะจัดการอย่างไร ในเมื่อคำสั่งย้ายนั้นเกิดเมื่อหลายปีก่อน ผู้ฟ้องคดีเกษียณอายุไปแล้ว หลายคดีผู้ฟ้องคดีให้สัมภาษณ์ว่าแค่นี้ก็ชื่นใจไม่ต้องให้กลับคืนสู่ตำแหน่ง แต่อยากให้เป็นบรรทัดฐานรุ่นน้องในการทำงานต่อไป หรืออย่างกรณีศาลมีคำพิพากษาให้หน่วยงานไปแก้ไขแต่หน่วยงานกลับไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา จะทำอย่างไร แต่ก็ทราบว่า ศาลก็ได้มีการแก้ไข กม. และระเบียบเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวไปบ้างแล้ว
นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะที่ฝ่ายรัฐ ไม่รู้สึกขัดข้องกับการมีศาลปกครองแต่สิ่งที่อึดอัด คือ เมื่ออ่านคำพิพากษาศาลปกครองแล้วไม่เข้าใจว่าศาลปกครองให้ทำอะไร หรือที่ทำอยู่นั้นเพียงพอเป็นไปตามคำพิพากษาแล้วหรือยัง เช่น กรณีปัญหาทวงคืนท่อก๊าซปิโตรเลียม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือล่าสุดคดีห้ามตั้งกังหันลม ในที่ดิน ส.ป.ก. ที่วันนี้ ส.ป.ก. เปิดตำราไม่ทันจะทำอย่างไรให้ถูก ซึ่งสิ่งที่ได้ยินเสมอมา คือ ไม่รู้ว่าที่หน่วยงานปฏิบัตินั้นทำได้ตามที่ศาลพิพากษาศาลหรือไม่ ทำให้เกิดแนวความคิดว่าควรยื่นหน่วยธุรการของศาลเพื่อถามว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องตามที่ศาลมีคำพิพากษาหรือยัง รวมทั้งความคิดว่าคงต้องยื่นคำร้องใหม่ให้ศาลมีคำสั่ง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งหมดเกิดจากความไม่แน่ใจ ไม่เข้าใจ หรือจะด้วยความไม่อยากปฏิบัติของหน่วยงานก็แล้วแต่ แต่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นที่มาของการทำให้เกิดคำว่า คำวินิจฉัยศาลปกครองบางเรื่องเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ คำวินิจฉัยบางเรื่องทำให้การบริหารราชการแผ่นดินสะดุด ข้อกล่าวหานี้อาจจะรุนแรง ซึ่งตนไม่ได้เป็นคนพูด แต่ได้รับฟังมาตลอดเวลา และนั่งพิจารณาว่าทำไมเวลาศาลยุติธรรมตัดสินจึงไม่เกิดคำถามในลักษณะนี้ขึ้นก็คิดว่าเป็นเพราะคำตัดสินของศาลยุติธรรมมีผลเฉพาะคู่ความ แต่คำพิพากษาของศาลปกครองหลายเรื่องเป็นการวางแนวปฏิบัติในทางปกครองเช่น ศาลพิพากษาว่า เรื่องนี้เป็นการสั่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ก็จะเกิดคำถามว่า แล้วถ้าสั่งอย่างโน้นจะถือว่าเป็นการสั่งโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรหรือไม่ คำถามอย่างนี้เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งกับหลักนิติธรรม รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นคิดว่าสิ่งที่รัฐทำยึดหลักนิติธรรมแล้ว แต่รัฐไม่รู้ว่าเมื่อมีการฟ้องร้องในศาลปกครองศาล ศาลจะเห็นว่าหลักที่ศาลวางนั้นเป็นหลักนิติธรรมหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้ศาลจะแก้ไขอย่างไรก็ต้องคิด เพราะถ้าไม่เช่นนั้นถ้าไม่ทำอะไร ปีที่ 17 - 18 ของศาลปกครองก็อาจต้องเผชิญกับปัญหาความเชื่อมั่นที่มีของประชาชน