สนช. ถก ร่าง พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดฯ แก้กฎหมายเก่า รวมลูกดอกไฟฟ้าเป็นกระสุน ให้บั้งไฟ ตะไล เป็นดอกไม้เพลิง ด้าน “อู้ด” เตือนกระทบวัฒนธรรมหรือไม่ ซักให้จดทะเบียนใหม่ใน 6 ปี จะทำได้หรือ “พรศักดิ์” ห่วงห้ามออกใบอนุญาตให้ต่างชาติกระทบนักกีฬา แนะคิดรอบคอบให้บริษัทขนสินค้าซื้อปืนได้ ขณะที่ รมช.มหาดไทย ยันไม่กระทบประเพณี ก่อนลงมติเห็นชอบ 218 งดออกเสียง 4 ตั้ง กมธ. 15 คน
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 15/2560 โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานในที่ประชุม โดยมีระเบียบวาระที่พิจารณา คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงหลักการและเหตุผล ว่า โดยที่ พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายมาตราไม่เหมาะสมกับกาลสมัย เนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตฯ ในปัจจุบันนี้ ได้ก้าวหน้าไปมาก ส่งผลให้กฎหมายที่บังคับใช้ไม่สอดคล้อง และไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งอัตราโทษและค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้ในกฎหมายก็ยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขเพิ่มกฎหมายดังกล่าว เพื่อใช้บังคับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและความปลอดภัยของประชาชน
โดยสาระสำคัญคือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ตามสภาพการณ์ปัจจุบัน เช่น กำหนดคำนิยาม “เครื่องบังคับให้เสียงเบาผิดปกติ” เนื่องจากในปัจจุบัน มีการนำไปใช้ประกอบเข้ากับอาวุธปืน ทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถรับรู้ถึงการก่ออาชญากรรม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเฉพาะ “เครื่องกระสุนปืน” ให้หมายรวมถึงตลับลูกดอกไฟฟ้า และลูกดอกไฟฟ้า เพราะมีความร้ายแรงไม่แตกต่างกับกระสุนปืน จึงต้องมีมาตรการควบคุมเช่นเดียวกับ “ดอกไม้เพลิง” ให้หมายรวมตลอดไปถึงบั้งไฟและตะไล เนื่องจากปัจจุบัน มีการจัดแข่งขันบั้งไฟและตะไล ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งเป็นอันตรายต่อการเดินอากาศยานด้วย และกำหนดให้แก้ไขบทกำหนดโทษและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ
ขณะที่ พล.อ.อู๊ด เบื้องบน สมาชิก สนช. อภิปรายข้อสังเกตถึงร่างกฎหมายโดยเฉพาะกรณีที่ร่าง พ.ร.บ. กำหนดมาตรการให้อาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตใน พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 ให้นายทะเบียนท้องที่มีอำนาจเรียกผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ให้นำอาวุธปืนเพื่อมาจัดทำรายละเอียด เกี่ยวกับอาวุธปืน ให้แล้วเสร็จภายใน 6 ปี นับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ. นี้ ใช้บังคับนั้น ตนเห็นว่า ปัจจุบันมีอาวุธปืนที่ได้รับการจดทะเบียนจำนวน 5 ล้านกระบอก ด้วยศักยภาพการดำเนินการของนายทะเบียนฯ จะสามารถทำได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ได้หรือไม่ และไม่มีมาตรการจูงใจให้ผู้ครอบครองอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย หรือปืนเถื่อน ให้นำปืนมาขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย อีกทั้งกฎหมายกำหนดให้คำนิยามของ “ดอกไม้เพลิง” ให้ครอบคลุม บั้งไฟ และ ตะไล นั้น ตนเกรงว่า อาจจะกระทบกระเทือนกับขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น และผู้ประกอบอาชีพดังกล่าว
ส่วน นายพรศักดิ์ เจียรณัย สมาชิก สนช. ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นที่ถูกใจของประชาชน อีกทั้งรัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอาวุธปืน โดยมีการออกประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หลายฉบับ สำหรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ตนมีประเด็นที่เน่าเป็นห่วง 2 เรื่อง คือ การห้ามออกใบอนุญาตให้กับผู้ไม่มีสัญชาติไทย เพราะอาจจะกระทบกับ บุคคลชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นต้องใช้ปืนเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือการกีฬา และในมาตราที่อนุญาตให้บริษัทขนส่งเงิน หรือทรัพย์สินที่มีจำนวนมาก สามารถสั่งซื้อปืนให้กับบุคคลที่ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินได้นั้น เห็นว่า จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบของประชาชนโดยรวมและอาจจะกระทบในมาตราที่ไม่ได้เสนอแก้ไข
ด้าน นายสุธี ได้ชี้แจงว่า ประเด็นที่กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ นำปืนให้นายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบอัตลักษณ์ภายใน 6 ปี นั้น จำเป็นที่จะต้องดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมในการจัดซื้อเครื่องพิสูจน์อัตลักษณ์ของปืน ให้กับทุกอำเภอของ 76 จังหวัด (ยกเว้น กทม.) โดยหากได้รับงบประมาณเพียงพอ ก็สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือกับผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ด้วย ส่วนประเด็นว่า การกำหนดให้ บั้งไฟ และ ตะไล อยู่ในหมวดเดียวกับดอกไม้เพลิง จะกระทบกับขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นนั้น ตนยืนยันว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใด โดยได้มีการร่างเพื่อให้สอดคล้องทั้งประเพณีท้องถิ่นและครอบคลุมถึงข้อห่วงใยของทางกระทรวงคมนาคมถึงผลกระทบในการคมนาคมทางอากาศด้วย และส่วนที่สมาชิกกังวลในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น ขอให้ทางคณะกรรมาธิการฯ ที่จะตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบต่อไป
จากนั้น สมาชิก สนช. ได้ลงมติ รับหลักการร่างดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 218 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 15 คน พร้อมกำหนดระยะเวลาการทำงาน 60 วัน แปรญัตติ 15 วัน