xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ลั่นทุกคนต้องร่วมมือสู่ยุคดิจิตอล ปลุก ขรก.นำการเปลี่ยนแปลง ขอด่าได้แต่มีเหตุผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ ย้ำทุกคนต้องร่วมมือเดินหน้าสู่ยุคดิจิตอล ให้ทันการเปลี่ยนแปลงโลก รับขัดแย้งเหตุ ปชช.คิดไม่เท่าเทียม ขออย่าดูถูกการทำงานเพราะต้องใช้เวลา ปลุก ขรก.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รับความรู้ตัวเองแค่เบบี้บูมเมอร์ บอกใส่แว่นบ่อยเหตุอ่านบ่อย 3 ปีจนตาเจ็บ เบื่อคนข้างนอกพูดไม่ฟัง ดันตั้ง พนักงาน-ข้าราชการเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แทนที่เกษียณ จูงใจค่าตอบแทน เซ็งถูกมูลนิธิฟ้องพันคดี ยันฟังทุกฝ่ายอย่าบิดเบือนเร่งแก้ให้ แจงใช้ ม.44 เท่าที่จำเป็น ขอด่าได้แต่มีเหตุผล

วันนี้ (8 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาทักษะด้านดิจิตอลสำหรับข้าราชการ และบุคลากรภาครัฐ พร้อมปาฐกถาพิเศษ “รัฐบาลดิจิทัล กุญแจสู่ประเทศไทย 4.0” และแถลงวิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิทัลประเทศไทย โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า เราต้องร่วมมือกันทำให้ประเทศก้าวหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือที่เรียกว่าพลวัต ประเทศไทยต้องเดินหน้าตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นก็จะหยุดอยู่กับที่ อยู่กับเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ต้องร่วมมือกันทำเพื่ออนาคต แม้ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรที่จะให้ทุกอย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราร่วมมือกันทำด้วยแผนงานที่รัดกุม ครอบคลุมเป้าหมายตามที่ประชาชนต้องการ ทุกอย่างก็จะรวดเร็วขึ้น ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิตอล เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนสังคม เพราะคนยุคใหม่ตื่นขึ้นมาก็เริ่มต้นด้วยดิจิตอลและเทคโนโลยีทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนแปรงฟันก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวยอมรับว่า ตนเองกังวลและคิดมาตลอดว่าจะใช้ประโยชน์กับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร จึงได้มอบนโยบายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการ ทุกวันนี้การสื่อสารด้วยเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญ โดยเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การศึกษา การแพทย์ การลงทุน และการป้องกันภัยพิบัติ ฯลฯ หน่วยงานภาครัฐจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อทำงานให้เกิดความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการยกระดับการทำงานของภาครัฐในการให้บริการแก่ประชาชน การบริหารงานได้สะดวกรวดเร็ว และร่นระยะเวลา

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ได้ประกาศไว้แล้วว่าเราจะเดินหน้าอีก 5 ปี ให้เป็นรัฐบาลดิจิตอล แต่ต้องเข้าใจว่าการทำอะไรต่างๆ ไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น การแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาระหว่างปี 2557-2559 รัฐบาลได้เก็บทุกปัญหาจัดกลุ่ม วิธีการแก้ไขปัญหา กำหนดกลุ่มเป้าหมาย วางโรดแมปในการทำงานทุกด้าน โดยยืนยันว่าการพัฒนาต่างๆ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่เช่นนั้นจะมีคนออกมากล่าวหาว่าเรื่องนี้ยังไม่ทันเริ่ม เรื่องทุจริตก็ยังมี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ขอร้องว่าอย่าเอาปัญหามาปนกัน การทำงานของข้าราชการด้านฟังก์ชันก็ต้องทำอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องเน้นมากจนเกินไป ควรเน้นการบูรณาการการทำงานที่เชื่อมโยงกันหลายกระทรวง สิ่งสำคัญที่เป็นห่วงคือต้องไปตรวจสอบความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรว่าสามารถเชื่อมโยงกันได้หรือไม่

“เรื่องนี้ยังแก้ไม่ได้ คนไทยยังคิดแบบนี้อยู่ ผมก็กังวลกับเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไร ก็ยังมีปัญหาเรื่องของความเข้าใจ และประชาชนต้องเห็นประโยชน์ถึงการดำเนินการของรัฐบาล ถ้ามองไม่เห็นประโยชน์ก็จะขัดแย้งเรื่อยไป สิ่งที่รัฐบาลทำทุกวันนี้ก็เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อตัวเอง ปัญหาวันนี้ต้องถามว่าคนไทยยังแบ่งออกเป็นกี่กลุ่มกี่ฝ่าย ถือเป็นประเด็นสำคัญ เป็นความยากง่ายในการทำงาน เรายังไม่สามารถทำให้มีพื้นฐานทางความคิด และความรู้ที่เท่าเทียมกันได้ การบูรณาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องทำงานให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งความคิด ปัจจัยภายในและภายนอก การที่บอกว่าจะให้เกิดผลสำเร็จภายใน 5 ปี เดี๋ยวก็โดนดูถูกอีกว่าทำได้จริงหรือเปล่า วันนี้ถ้าความขัดแย้งยังสูงอยู่ มีเรื่องต่างๆ เข้ามาประชาชนก็ไม่สนใจสิ่งที่รัฐบาลทำ ทุกอย่างก็ไปไม่ได้ โดยเฉพาะความไว้เนื้อเชื่อใจก็จะไม่เกิดขึ้น การค้าการลงทุนก็จะมีปัญหา สิ่งสำคัญคือการมีเสถียรภาพของบ้านเมือง ที่ผมต้องการเน้นคือการบูรณาการ ไม่ใช่แค่การประสานงาน การประชุม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความมีเสถียรภาพของบ้านเมืองเราจะทำให้เราสามารถทำงานได้ด้วยความรวดเร็ว สิ่งสำคัญ คือ การบูรณาการ ไม่ใช่การประสานงาน ไม่ใช่การประชุม หรือการสอบถามหนังสือ ปี 2560 นั้นถือเป็นการปฏิรูปการทำงาน ฉะนั้นทุกอย่างต้องจบตั้งแต่ขั้นต้นมาแล้ว เมื่อขึ้นมาถึงรัฐบาลจะต้องสามารถตอบคำถาม ครม.ได้ แต่ไม่ใช่ให้ ครม.ต้องมาตัดสินใจ จะต้องมีการแก้ในสิ่งที่เป็นปัญหามาก่อน โดย ครม. หรือรัฐบาลจะพิจารณาในเรื่องความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และลำดับความเร่งด่วนตามโรดแมปของรัฐบาล และรัฐบาลไม่สามารถจะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการทำงานของส่วนราชการได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่กำกับดูแล และนี่คือธรรมมาภิบาลที่รัฐบาลต่อไปต้องมีด้วย ตรงนี้จะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยข้าราชการ

“วันนี้คนมักจะมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่จะสำเร็จ เมื่อไหร่มาตรา 44 จะใช้ได้ มันทำให้ผมปวดฟันปวดหัว มาตรา 44 จะใช้ได้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จะร่วมมือแก้ปัญหากันอย่างไร” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวย้ำว่า เราจะสามารถขับเคลื่อนรัฐบาลไปสู่รัฐบาลดิจิตอลด้วยการบูรณาการ วันนี้มียุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่กระทรวงก็ต้องมียุทธศาสตร์กระทรวง โดยยุทธศาสตร์ใหญ่คือความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การจะคิดอะไรก็ตามต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ มองความต้องการของประเทศใน 5 ปี 10 ปีข้างหน้า อาจขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นได้ ทั้งคน แผนการ งบประมาณ เพื่อไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของรัฐบาลดิจิตอลภายใน 5 ปี การทำงานต้องลดความขัดแย้งด้วย ไม่เช่นนั้นคิดอะไรออกมาก็เดินไม่ได้ รัฐบาลต้องมาแก้ตามหลังทุกที ส่งผลให้การพัฒนาประเทศติดขัด และยืนยันว่าวันนี้รัฐบาลทำอย่างเต็มที่

นายกฯ กล่าวอีกว่า บุคลากรภาครัฐต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เฉพาะนายกฯ หรือรัฐมนตรี ทั้งหมดต้องช่วยกันทำงานควบคู่กับการลดความขัดแย้ง อะไรที่ไม่ตรงกันเอาไว้ก่อน แต่สิ่งไหนที่เห็นตรงกันก็ทำไป หากทำพร้อมๆ กันแล้วเน้นทุกอันก็ยากจะสำเร็จ เพราะติดขัดด้วยเวลา งบประมาณ วันนี้อยากให้ทุกคนมีจิตใจร่วมกับตนซึ่งตนพยายามสร้างแรงกระตุ้นในทุกเรื่อง และวันนี้มาพูดถึงเรื่องดิจิตอล แต่ไม่บังอาจจะบอกได้ว่ารู้มากกว่าพวกท่าน เพราะตนเป็นแค่คนในยุค Baby boomer (เบบี้บูมเมอร์) แค่ใช้แค่รู้พูดได้ก็เก่ง แต่ตนก็พยายามคิดและพูดและเข้าใจในสิ่งที่พูดไป ประเด็นสำคัญต้องรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากดิจิตอลได้อย่างไร และประชาชนต้องเรียนรู้

นายกฯ กล่าวอีกว่า การลงนามในวันนี้ถือเป็นความคืบหน้าในความร่วมมือพัฒนาทักษะด้านดิจิตอลของภาคราชการที่จะส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจ คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม หากแต่ละองค์กรมีสิ่งเหล่านี้การทำงานก็จะไปได้หมด เพราะวันนี้ปัญหาต่างๆ เกิดจากจุดนี้ คนไทยมีความพร้อมทุกอย่าง ฉลาดทุกคน อยู่ที่ว่าจะฉลาดดีหรือไม่ดีเท่านั้น คนไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศใหญ่ๆ มีหลายเรื่องที่เราชนะ อะไรที่เป็นปัญหาเราเก่งขึ้น

“ปี 60 คือปีแห่งการปฏิรูปทั้งระบบ ถือว่าอยู่ในระยะที่ 1 ของการปฏิรูปประเทศ ส่วนระยะที่ 2 คือ การส่งต่อไปยังรัฐบาลหน้า ดังนั้นเราต้องวางแผน จะเดินหน้าประเทศอย่างไรตั้งแต่ปี 60-64 ใครจะเดินยังไม่รู้ แต่ช่วงนี้เราจะว่งพื้นฐานเอาไว้โดยพวกเราต้องช่วยกัน อย่าให้ประเทศถอยกลับมาที่เดิมอีก จะได้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามที่วางไว้ ในขณะที่ 1.0, 2.0, 3.0 ยังมีอยู่ ซึ่งแต่ละแท่งต้องพัฒนาการเรียนรู้ ปรับตัวเองให้เท่าทันต่อการพัฒนาประเทศ” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ต้องคิดปลายทางต้องการอะไร ต้นทางต้องทำอะไรให้เขา เพราะฉะนั้นกลางทางคือวิธีการ และต้องมอบหมายความรับผิดชอบใครจะทำอะไร ถ้าใส่ทั้งหมดอยู่ในกล่องมันไปไม่ได้ ไม่มีใครอยากดู เพราะเยอะเกินไป ดังนั้น ต้องเจาะไปในกลุ่มว่าต้องการสิ่งไหน ถ้ากำหนดตรงนี้จะนำไปสู่การจัดทำศูนย์ข้อมูลในอนาคตของกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อสร้างการเรียนรู้

“มีคนเคยพูด เปิดเผยคือโปร่งใส ปกปิดคือยกเว้น ฟังก็งงๆ ดูเหมือนเราไปปกปิดใคร ถ้าเราจะขับเคลื่อนไทยด้วยเทคโนโลยีต้องปรับวิธีคิดใหม่ให้แตกต่าง ต้องช่วยกันเป็นผู้นำเพื่อสู่การเปลี่ยนแปลง คิดใหม่ ทำใหม่ โดยฟังคนอื่น ผมอยู่มา 3 ปี ทั้งฟัง ทั้งอ่าน จนตาเริ่มเจ็บ มองอะไรเจ็บ เริ่มต้องใส่แว่นบ่อยขึ้น ฉะนั้นหากเราต้องใช้ตรงนี้ได้ จะช่วยลดเรื่องของเอกสารได้เยอะ บางทีนั่งอ่านตาแทบแฉะ เรื่องนิดเดียวมาเป็นปึก” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จึงต้องมีการใช้ดิจิตอล ใช้ความคิดมาเสริมและสรุป เวลาทำงานอะไรก็ตาม วันหน้ามาทีละชิ้นมันไม่ไหว และเขาก็ไม่สนใจ ตนพยายามสนใจก็ต้องอ่านเยอะ ดังนั้น ต้องทำสองอย่างคู่ขนานไปยังต้องมีเอกสารประกอบ แต่การปฏิบัติข้างล่างข้าราชการเก่งอยู่แล้วก็ต้องทำคู่ขนานกันไป ตนพูดให้ง่ายขึ้น “สำหรับคนข้างนอกฟังไม่เข้าใจ เรื่องเก่ายังไม่จบ ทำเรื่องใหม่อีกแล้ว การพัฒนาคนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลนี้ หลายคนแนะนำว่าต้องพัฒนาเรื่องนั้นก่อนเรื่องนี้ก่อน เวลาพูดไม่ฟัง คิดแล้วก็พูดตำหนิติติง มันมีคนแบบนี้เยอะ จึงทำงานได้ยาก”

ดังนั้น นี่คือสิ่งที่พวกท่านต้องลดปัญหาระหว่างทางให้ได้ในการไปสู่ความสัมฤทธิ์ ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาสร้างคนที่มีหลักคิด ไม่ใช่คิดฉลาดก็ได้ คดีดีก็ได้ คิดโกงก็ได้ แต่ต้องคิดวิเคราะห์ ต้องมีหลักคิดที่ถูกต้อง หลักคิดที่ดี เอามาต่อยอด คิดสร้างสรรค์ ถ้ารัฐบาลต้องช่วยตลอดมันไปไม่ได้ พังกันทั้งประเทศ วันนี้อย่าเอามาตีกัน อะไรไม่ดีต้องเอามาแก้ไข ต้องบูรณาการทันการเปลี่ยนแปลงโลก

วันนี้ปัญหาการบริหารจัดการกำลังพลให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาของเราคือถ้าตั้งหรือรับข้าราชการมากเกินไปก็เกิดปัญหา การบรรจุทดแทนการเกษียณอายุราชการต้องมีการปรับจำนวน แต่ไม่ทำให่ท่านเดือดร้อน เพียงแต่ข้าราชการใหม่ที่รับเข้ามาต้องมีรูปแบบ ต้องเป็นแบบเฉพาะกิจ หรือตั้งเป็นพนักงานราชการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่างทหารทำตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ วันนี้ต้องจ้างคนพิเศษมาทำตรงนี้จะได้เร็วขึ้น เราต้องเสียเวลาในการอบรมคนที่มีอยู่เดิมนานกว่าจะเก่งคนที่จบมาโดยตรง แต่เราบรรจุคนทั้งหมดไม่ได้ จึงต้องดูเรื่องการพัฒนาระบบราชการ โดยมีพนักงานราชการมีรายได้สูงขึ้น มีค่าตอบแทนพิเศษ เพื่อทดแทนการเกษียณอายุ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครอยากมา

นายกฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องทำให้ครอบคลุม สำคัญต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วม มีวินัย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง เราห้ามเขาไม่ได้ เพราะวันนี้หลายอย่างทำไม่ได้ ต้องหาทางแก้ระบบให้ปลอดภัย เพราะระบบความปลอดภัยขณะนี้ลดลง เพราะประชาชนต่อต้านการบังคับใช้กติกา กฎหมาย เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลแต่ไปละเมิดคนอื่น เหมือนกับละเมิดคนเขียนไม่ได้ แต่คนเขียนละเมิดคนอื่นได้ ดังนั้น ต้องสร้างให้เกิดความเป็นธรรม และสร้างความเข้าใจตรงนี้

นายกฯ กล่าวว่า มีบุคคลในมูลนิธิ 2 คนที่ฟ้องร้องตนมาเป็นพันคดี แล้วเราทำอะไรเขาได้หรือไม่ ก็ทำไม่ได้ ก็แค่รับฟังเขาแล้วพยายามแก้ปัญหาไปเพราะอย่างน้อยเขาก็ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น แต่ขออย่าบิดเบือน ถ้าบิดเบือนก็ต้องใช้กฎหมายกันถ้าไม่บิดเบือนก็รับแก้ให้หมด ตนไม่อยากเอ่ยชื่อเพราะอาจเกิดปัญหา ขี้เกียจพูดวันนี้ทะเลาะกับคนมาพอแล้ว ตนไม่เคยอยากทะเลาะกับใคร บางทีก็เผลอไปบ้าง ก็เพราะตนเป็นมนุษย์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินถ้าบอกว่าความมั่นคงมีแค่ตำรวจและทหาร นึกแต่จะเรียกคนก็ทำไม่ได้ ทุกคนต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองรวมถึงชุมชนและท้องถิ่น ตรงนี้คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าเกินขีดความสามารถไปถึงขั้นใช้อาวุธหรือกำลังค่อยหาหลักฐานแล้วค่อยบุกเข้าไป ตอนแรกก็ดูบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่ต้องไปปราบปรามกันทุกเรื่อง นั่นเรียกว่าไม่มีภูมิคุ้มกันแล้วไม่พอเพียง ภูมิคุ้มกันมีหลายอย่าง ทั้งเรื่องเฝ้าระวัง และความเชื่อมั่นศรัทธา รวมถึงศาสนาต่างๆ

“เราต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องว่าควรจะเป็นอย่างไรให้ประชาชนได้เรียนรู้ อย่าไปมุ่งเน้นว่าต้องใช้กำลังทหาร-ตำรวจตลอดเวลา หรือใช้กฎหมาย ถ้าเราเคยชินกับการใช้กฎหมายมากๆ ผมไม่เคยชิน มีคนบอกว่าผมเคยชินกับการใช้มาตรา 44 ผมไม่อยากจะใช้ แต่จำเป็นก็ต้องใช้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางออกที่จะเดินหน้าอย่างอื่นได้ ในเมื่อกฎหมายปกติไม่ได้รับการยอมรับนับถือ หรือกฎหมายปกติยังไม่มีก็ต้องออกมาก่อน เราใช้ประโยชน์อย่างนี้มากกว่า ที่ผ่านมามีคนบอกว่าใช้มาตรา 44 เยอะ ผมขอถามหน่อยว่ามันใช้เยอะตรงไหน ใช้เยอะในเรื่องของการบูรณาการและการติดขัดข้อกฎหมายและการแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้เดินหน้าไปได้ การใช้ในเรื่องความมั่นคงน้อยมาก เพราะมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่ปฏิบัติกันไง เมื่อไม่ปฏิบัติก็ต้องมีกฎหมายในเชิงบูรณาให้ทุกหน่วยงานทำงานได้ รวมถึงปกป้องเจ้าหน้าที่ ไม่อย่างนั้นเขาก็ทำไม่ได้เหมือนเดิม สุดท้ายก็เกิดความขัดแย้งเหมือนเดิมมาตลอดขอให้เข้าใจด้วย ไม่ใช่เอากฎหมายมาตรา 44 ไปบังคับใช้แล้วใช้ไม่ได้แล้วมาโทษกฎหมาย วันนี้คนไทยชอบโทษกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตลอดแต่ไม่โทษตัวเอง ตัวเองจะต้องช่วยลดความขัดแย้ง ลดปัญหาด้วย มีอะไรต้องพูดจากัน อย่าคล้อยตามไปทุกวัน ใครพูดอะไรก็คล้อยตามไป เหมือนกับดูมวยแบบนั้นทำไม่ได้ มันจะน็อกกันเมื่อไหร่ ผมจะรู้ไหมว่าจะเสร็จวันไหนเมื่อไหร่ มันจะต้องแบบนี้ๆ ทำไม่ได้ มันกดดันเจ้าหน้าที่ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ก็ตัดสินใจผิดพลาด มีปัญหาอีกเพราะกระแสกดดัน เราต้องให้เขาวางแผนและทำงานของเขาเพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน เว้นแต่คนไทยไม่ฟังคนไทยด้วยกันแล้วจะทำกันอย่างไร รัฐบาลก็รับผิดชอบอยู่แล้วทุกเรื่อง สุดท้ายมันก็มีผลกระทบกับประชาชนโดยรวมทั้งประเทศที่มีการใช้กฎหมาย” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า การป้องกันชายแดนและการแก้ปัญหาภาคใต้ทั้งหมด ถ้าประชาชนร่วมมือกันก็จบ ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่เขาไปทำให้ เสร็จก่อนแล้วค่อยร่วมมือกันใหม่ มันไม่ใช่ สังคมนั่นแหละที่เป็นตัวกดดันให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย แต่ไม่ใช่สังคมที่ปลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้กฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ ต่อสู้การทำงานที่มีหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ตรงนี้ยังไปไม่ถึง ส่วนใหญ่จะมองเป็นพื้นที่เป็นตัวเองมองเป็นกลุ่ม ประเทศไทยติดอยู่ตรงนี้มันต้องคิด 2 อย่าง เพื่อตัวเอง เพื่อชุมชน เพื่อพื้นที่ตัวเอง รวมถึงเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ประเทศไทยถึงจะเดินหน้าไปได้ ที่พูดมาทั้งหมดมันถึงจะทำได้ ถ้าเขายังคิดแบบเดิมก็ไปกันไม่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะใครก็แล้วแต่ คิดแบบเดิมเหมือนที่ตนก็พยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนใช้เฟซบุ๊กบ้านเรามี 44 ล้านคน ลองเปิดดูสิ มีทั้งดีและไม่ดี มีคนใช้โทรศัพท์กี่เครื่อง ไม่รู้จะโทร.อะไรกันนักหนา บางเบอร์โทร.มาด่าตนลูกเดียวเลย แต่อยากจะว่าอะไรก็ว่าไป อันนี้ที่ทำให้ท่านได้ ที่เหลือก็ใช้อย่างอื่นไป เพื่อประโยชน์ในการทำงานของตน เพราะวันนี้ความเป็นส่วนตัวถูกละเมิดไปเยอะ แต่เขาบอกเป็นคนของประชาชน เพราะฉะนั้นจะด่าอะไรก็ได้ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะ เป็นนายกฯ ของประชาชนต้องยอมรับการด่าของใครก็ได้ ให้มีเหตุผลหน่อยจะมาด่าอะไร ถ้าเล่นเขียนมาตนก็สู้ท่านไม่ได้ ตนไม่สู้ใครอยู่แล้ว





กำลังโหลดความคิดเห็น