รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ ชี้ โครงการโรงเรียนคุณธรรมเป้าหมายสำคัญของประเทศ หวังสัมฤทธิ์ผล 100% ให้โรงเรียน สพฐ. เป็นสถานศึกษาคุณธรรม ชูเอกลักษณ์ของชาติช่วยส่งเสริม แนะพ่อแม่ครูเป็นไอดอล
วันนี้ (7 มี.ค.) ที่ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวช่วงหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษแก่หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ครูอาจารย์ นักวิชาการทางการศึกษา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า เป้าหมายสำคัญที่ถือเป็นวาระสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศไทยในวันนี้ คือ เรื่อง โครงการโรงเรียนคุณธรรมที่ตนอยากเห็นผลสัมฤทธิ์ในเรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ฟังดูแล้วอาจดูเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่มองว่าความเพียรพยายามของครูอาจารย์เพื่อศิษย์อยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น ในปีการศึกษาใหม่ ปี 2560 ที่จะเริ่มต้นขึ้น ตนวางเป้าหมายไว้ค่อนข้างสูง คือ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. 30,000 แห่ง ที่จะสามารถประกาศเป็นสถานศึกษาคุณธรรม ประกอบด้วย หลักคิดและแนวปฏิบัติสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความรับผิดชอบ ความพอเพียง และอุดมการณ์คุณธรรม โดยมีตัวชี้วัด 7 ประการ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และผู้ตรวจราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้องติดตามประเมินผลและเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เกิดเฉพาะปริมาณ แต่ให้มุ่งสร้างสรรค์คุณภาพทางการศึกษาและคุณธรรมจริยธรรมอย่างแท้จริง
ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า เอกลักษณ์ของชาติเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสริมโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งไอดอล หรือแบบอย่างทางสังคมแก่ลูกหลานเยาวชนถือว่ามีความสำคัญมาก เข้าลักษณะหัวไม่ส่ายหางไม่กระดิก ไอดอลที่อยู่ใกล้ตัวกับลูกหลานมากที่สุด คือ บิดา มารดา และครูอาจารย์ ดังนั้น เมื่อคำสอนเรื่องแบบอย่างหรือต้นแบบในการดำรงชีวิตเป็นเช่นนี้ การเชื่อมโยงการดำรงตนและให้ความสำคัญแก่ลูกหลานเยาวชน ครอบครัวและโรงเรียน จึงจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันในกรอบที่เหมาะสม ไม่ละเลยแนวคิดข้อนี้ไปเสีย ยกตัวอย่างสมาคมผู้ปกครองครูนักเรียนของหลายๆ โรงเรียนที่กลับกลายเป็นคำตอบและข้อเสนอแนะที่โรงเรียนได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก
“การมีครูอาจารย์แนะแนวเรื่องการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก นับเป็นเรื่องจำเป็นที่จะไม่ให้ลูกหลานใช้ช่องทางโซเชียลในทางที่ขัดต่อหลักคุณธรรม จริยธรรม ไม่ว่ากล่าวให้ร้ายป้ายสีบุคคลอื่น ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นขนบธรรมเนียมประเพณีและผู้มีพระคุณ ที่ถือเป็นบาปและขัดต่อหลักคุณธรรมเป็นปฐมบท ในทางกลับกันต้องสนับสนุนการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ก ให้เกิดความรู้รักสามัคคี ความซื่อสัตย์สุจริต กิจกรรมสร้างสรรค์นานา และความรอบรู้ทางวิชาการ” ม.ล.ปนัดดา กล่าว
ม.ล.ปนัดดา กล่าวอีกว่า การมีต้นแบบของการกระทำที่ดีในแต่ละสถานศึกษา ย่อมเป็นการช่วยเสริมสร้างพลานุภาพแก่โรงเรียนคุณธรรม การน้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิชาเรียนที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในชีวิตแก่ลูกหลานเยาวชนและครอบครัว อันจะเป็นการเร่งรัดพัฒนาสังคมไทยให้มีความร่มเย็นเป็นสุข และมีความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวสืบไป