xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี” แนะปรองดอง รบ.ต้องไม่เป็นคู่ขัดแย้ง ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองเอี่ยวม็อบเคลื่อนไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง เสนอแนวทางการสร้างความปรองดอง สร้างกลไกการป้องกันปัญหาในอนาคต ย้ำ รบ.ต้องไม่เป็นคู่ขัดแย้ง และเป็นกลไกหลักในการทำความเข้าใจกับผู้เห็นต่าง พร้อมกำหนดมาตรการไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของมวลชน

วันนี้ (7 มี.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวถึงการพิจารณารายงานของว่า หลักการที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาจะมีความชัดเจนมากขึ้นจากข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการ โดยแยกแยะหลักการความขัดแย้งที่เกิดจากการเมืองทั่วไป และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีความ เรื่องนี้จะไม่ใช้หลักการนิรโทษกรรมอย่างแน่นอน พร้อมยืนยันถึงหลักคิดในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่ยึดหลักความถูกต้องกับความผิดออกจากกัน รวมถึงควรมีมาตรการทางกฎหมายให้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการให้โอกาส ซึ่งการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีตามฐานความผิด แต่ไม่รวมไปถึงเรื่องร้ายแรง การทุจริต และการดูหมิ่นสถาบันฯ

นอกจากนี้ยังมีการเสนอนแนวทางการบัญญัติกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยมาตรการป้องกันหากมีสัญญาณที่จะเกิดความขัดแย้ง ที่มีการกำหนดการป้องกันไม่ให้รัฐบาลกับภาคประชาชนหรือคู่ขัดแย้ง การสร้างมวลชนมาชุมนุมเผชิญหน้ากัน โดยให้มีช่องทางที่รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพื่อเป็นการหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐบาลต้องเป็นกลไกหลักและต้องไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน รวมถึงมีมาตรการห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของมวลชนด้วย พร้อมกับมาตรการที่มีจากกฎหมายการชุมนุมที่ประกาศใช้มาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ที่สำคัญปัญหาการเคลื่อนไหวต่อต้านของมวลชนจะไม่เกิดขึ้น หากนักการเมืองมีคุณธรรม ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน โดยหลักการที่ ป.ย.ป.ดำเนินการอยู่นี้ก็สอดคล้องกับหลักการของคณะกรรมาธิการฯ

ส่วนเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริงในอดีตก็เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นผู้ตัดสิน เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการมาหลายชุดแต่ก็หาข้อยุติไม่ได้ แต่เมื่อมีความกระจ่างโดยข้อเท็จจริงจากการวินิจฉัยของศาลแล้วก็จะมีหลักการอำนวยความยุติธรรม ที่หยิบจากหลักการในร่างกฎหมายของ สนช. ส่วนวิธีการยอมรับผิดตลอดจนแนวทางการพักโทษก็ถือเป็นข้อเสนอหนึ่งเกี่ยวกับช่องทางการให้โอกาส ขณะที่การอภัยโทษนั้นโดยหลักการแล้วก็ควรต้องมีการรับโทษก่อน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขของฝ่ายบริหาร พร้อมคาดว่าข้อเสนอทั้งหมดจะสามารถส่งให้ ป.ย.ป.ภายในเดือนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น