กรรมการการเลือกตั้ง ขอบคุณกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจ กกต.ครบถ้วน ยันพาไปดูงานระบบหาเสียง วิธีติดป้ายที่ญี่ปุ่น ด้านรองเลขาฯ รับยังเห็นต่างปมผู้ตรวจการเลือกตั้ง เผยแจงผล กบส.ดูงาน 2 ชาติ 21 มี.ค.ได้ประโยชน์อะไรบ้าง บอกไปเกาหลีช่วยให้มีมุมมองมากขึ้น
วันนี้ (7 มี.ค.) นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาถามความคิดเห็น กกต. ว่าสำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสืบสวนสอบสวนและการไต่สวนตามร่างกฎหมายลูกทาง กกต.ได้อำนาจมาครบถ้วน ต้องขอบคุณ กรธ.ที่ให้อำนาจ กกต.มาดำเนินการอย่างเต็มที่
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต. รักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.ได้ส่งความเห็นกลับไปยัง กรธ.เรียบร้อยแล้ว โดยความเห็นที่ส่งกลับไปเพิ่มเติมนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องกับสิ่งที่ กรธ.ได้ยกร่างไว้ แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ กกต.ยังคงเห็นต่างอยู่ โดยเฉพาะการให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัด
นอกจากนี้ นายบุญส่งยังชี้แจงการเดินไปดูงานต่างประเทศในหลักสูตรการบริหารงานระดับสูง (กบส.) รุ่นที่ 2 ว่า สำหรับตนในตัวแทนที่พานักศึกษาหลักสูตร กบส.ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 4 วัน ได้ดูงานทั้งหมด 7 แห่ง โดยหลักไปดูงานที่ กกต.ญี่ปุ่น ทำให้ทราบถึงระบบการหาเสียง กระบวนการติดป้ายหาเสียง ซึ่งระบบของประเทศญี่ปุ่นดีมาก ถือว่าได้รับประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการเดินทางไปดูงานต่างประเทศถือว่ามีความจำเป็น ถือว่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ หน่วยงานไหนก็มี ถือเป็นหลักสากล หลักสูตรสูงสุดของแต่ละหน่วยงานต้องเดินทางไปดุงานต่างประเทศ ไม่ได้ออกนอกกฎกติกาใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า สำหรับผลการเดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ของหลักสูตร กบส.รุ่นที่ 2 ทางนักศึกษาจะนำเสนอผลการไปดูงานทั้งหมดในวันที่ 21 มี.ค.นี้ ว่าได้รับประโยชน์เช่นใด และจะนำมาพัฒนาต่อการเลือกตั้งในประเทศอย่างไรบ้าง สำหรับตนได้เดินทางไปดูงานที่เกาหลีใต้ได้ประโยชน์และมุมมองหลายด้าน เพราะมีโอกาสได้ไปพบกับ กกต.เกาหลี และ AWEB ทั้งนี้ การไปดูงานในหลักสูตรนี้ช่วยให้พนักงานระดับสูงของ กกต.มีมุมมองมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศอย่างเดียว ช่วงนี้กฎหมายเปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น ระบบการเลือกตั้งที่เรานำมาใช้แบบญี่ปุ่น เพราะถ้าไม่ไปดูที่ประเทศต้นแบบก็จะไม่รู้กระบวนการว่าเป็นอย่างไร