“สุริยะใส” ขอ คสช.เปิดใจพิจารณาข้อเสนอ “ธีรยุทธ" เตือน ป.ย.ป.ระวังติดกับดักความคิดแบบอนุรักษ์และจารีตนิยม เน้นข้าราชการเป็นพระเอก ขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน จนงานปฏิรูปผิดทิศผิดทาง
วันนี้ (5 มี.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เผยเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ธีรยุทธ บูญมี ที่มองว่าการปฎิรูปประเทศของรัฐบาลนั้นยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะการปฏิรูปในระดับรากฐานหรือโครงสร้างที่เป็นปัญหา จนทำให้ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศที่ผ่ามาติดหล่มและวนเวียน จนกลายเป็นประเทศที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงมากอีกประเทศหนึ่ง
นายสุริยะใสเผยต่อว่า โดยเฉพาะ ป.ย.ป.ต้องเปิดใจกว้างรับฟัง เพราะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ป.ย.ป.ที่เตรียมขับเคลื่อนการปฏิรูป 27 วาระ มี 42 ประเด็น ที่ต้องทำให้เสร็จในปี 2560 และอีก 32 ประเด็นที่ต้องทำให้เสร็จภายในปี 2561-2564 นั้น ป.ย.ป.ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าประเด็นปฏิรูปเหล่านี้ต้องนำไปสู่การปฏิรูประดับนโยบายหรือโครงสร้าง ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแต่ถ้าทิศทางเป้าหมายชัดก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ ฉะนั้นจุดนับหนึ่งหรือจุดเริ่มต้นจึงสำคัญที่กลไกที่เกี่ยวข้องต้องอยู่ในภาวะที่ตระหนักต่อปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ทำไปเพียงเพราะรัฐบาลสั่งการและรอรัฐบาลใหม่เท่านั้น
นายสุริยะใสเผยอีกว่า การคำนึงถึงความต่อเนื่องระยะยาวของการปฏิรูปจึงเป็นปัจจัยที่ ป.ย.ป.ต้องคำนึงถึง แม้กำหนดกรอบเวลาในแต่ละประเด็นชัดเจนแต่ถ้ากลไกราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตระหนักร่วมไม่ปรับตัวยังยึดติดกับวัฒนธรรมความคิดแบบอนุรักษ์และจารีตนิยม เน้นกลไกราชการเป็นพระเอก แต่ขาดการมีส่วนร่วมหรือดึงภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมขับเคลื่อนรับผิดชอบ ในระยะยาวจะไปได้ยากเพราะระบบราชการบางครั้งก็กลายเป็นปัญหาของการปฏิรูปอยู่ด้วย
“ฉะนั้น ป.ย.ป.ต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ดึงมาเป็นพันธมิตรของการปฏิรูปทั้งในระยะสั้นและระะยาว ร่วมคิดร่วมกำหนดมาตรการไปพร้อมๆ กัน สุดท้ายสังคมก็จะกลายเป็นเจ้าภาพที่แท้จริงในการขับเคลื่อนไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล หรือกลไกราชการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลมาแล้วก็ไป แต่คนที่จะต้องแบกรับภาระและปัญหาคือประชาชนทั้งประเทศ” นายสุริยะใสระบุ