xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเมินงัด ม.44 ดับไฟใต้ ชี้เหตุมีหลายปัจจัย บู๊ล้างผลาญไม่ใช่ทางออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย นายกฯ ห่วงสวัสดิภาพชายแดนใต้ สั่งล่าคนร้ายมาลงโทษ เชื่อทุกศาสนาไม่อยากให้เกิดความรุนแรง เมินงัด ม.44 ลุย ชี้ สาเหตุมีหลายมิติ แต่แก้จนดีขึ้นแล้ว ชี้ใช้กำลังอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออก ยันพูดคุยสันติสุขหวังลดสูญเสีย ขอสื่อสร้างสรรค์

วันนี้ (4 มี.ค.) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงนี้ ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยสวัสดิภาพและความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกคนในพื้นที่ โดยฝากแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวผู้สูญเสียและให้กำลังใจทุกฝ่ายในการทำหน้าที่ พร้อมทั้งกำชับให้เร่งจับกุมตัวคนร้ายมาลงโทษโดยเร็วที่สุด

“ท่านนายกฯ เชื่อมั่นว่า ทั้งคนไทยพุทธและมุสลิมไม่มีใครอยากให้ความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะทุกศาสนาสอนให้คนคิดดี ทำดี ละบาป โดยประชาชนทั้ง 2 ศาสนาพึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงไม่อยากให้นำเรื่องศาสนาไปสร้างเงื่อนไขของความขัดแย้ง” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายชาวพุทธภาคใต้ที่ต้องการให้รัฐใช้ ม.44 แก้ไขปัญหาหรือปราบปรามคนร้ายอย่างเด็ดขาดนั้น ขอเรียนว่า สาเหตุของปัญหาในพื้นที่มีหลายมิติจึงจำเป็นต้องมองอย่างรอบด้าน ขณะนี้รัฐบาลใช้กฎหมายปกติและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ทำให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้น การแก้ปัญหาโดยใช้กำลังหรือความรุนแรงเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ

“อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย เช่น ความขัดแย้งส่วนตัว ยาเสพติด การเมืองท้องถิ่นและผลประโยชน์ ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อน ระหว่าง และหลังการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่าง จึงอาจทำให้สังคมหลงเข้าใจผิดว่าเหตุการณ์นั้นเป็นผลมาจากการพูดคุย ทั้งๆ ที่กระบวนการพูดคุยดังกล่าวเป็นแนวทางสันติวิธีที่รัฐบาลต้องการลดความรุนแรงและความสูญเสียทั้งปวงรัฐบาลจึงอยากให้พี่น้องประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร และขอความร่วมมือสื่อมวลชนพิจารณานำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ เพื่อป้องกันการบิดเบือนหรือบั่นทอนกำลังใจของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง สร้างความหวาดระแวง หรือทำลายกระบวนการพูดคุยซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเกิดความไว้วางใจมาเป็นลำดับ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น