xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่-สสส. จัดงานหนุนสร้างชุมชนเข้มแข็งพัฒนายั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่-สสส. รวมพลังจัดงาน “สานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หนุนภาคประชาสังคมตามรอยพ่อสานต่อทำจริง สร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ตอบโจทย์ SDGs พัฒนาระบบนิเวศของชุมชน-ศก.พอเพียงและความมั่นคงชุมชน-ความเท่าเทียม ทั่วถึง ชุมชนเกื้อกูล ยึดหลักท้องถิ่นต้องจัดการตัวเอง

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 ตามรอยพ่อสานต่อปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2560 โดยมีคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 คณะกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทั้ง 4 ภูมิภาค กว่า 2,000 แห่ง รวมกว่า 4,500 คน เข้าร่วมงาน โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมงาน อาทิ ปาฐกถาพิเศษ “เมืองนิยม : เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต รศ.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเรียนรู้และกระตุ้นขบวนการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่โดยการน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมที่ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย ทั้งในพื้นที่ระดับตำบลและจังหวัด อันนำไปสู่ความยั่งยืน พร้อมกับร่วมกันกำหนดทิศทางเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นและภาคียุทธศาสตร์ นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงการดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่โดยนำใช้ศาสตร์พระราชากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่เป็นนโยบายระดับชาติและเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่เป็นข้อตกลงที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้กับประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อกันยายน 2558

“SDGs มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาความยากจน และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 17 เป้าหมาย ซึ่งเป็นเป้าหมายในระดับโลก แต่เราอยากเห็นโลกนี้นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงเกิดคำถามว่าจะทำได้อย่างไรใครทำ เราเลยเริ่มต้นกับชุมชนเครือข่ายที่ สสส. ทำงานด้วย โดยมีการพูดคุยและหารือ เพื่อวิเคราะห์ว่า กิจกรรมอะไรบ้าง ที่ชุมชนท้องถิ่นทำได้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์รูปธรรมจากพื้นที่ใน 3 กลุ่ม ใน 17 เป้าหมายหลัก คือ 1. ระบบนิเวศของชุมชน ได้แก่ การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน ฟื้นฟูดิน ข้อตกลงการจับสัตว์น้ำของชุมชน การจัดการน้ำ 2.เศรษฐกิจพอเพียงและความมั่นคงชุมชน ได้แก่ บ้านเพียงพอ คนพอเพียง ส่งเสริมอาชีพ พอเพียงสร้างฐานชุมชนมั่นคงแข็งแรง พลังงานชุมชน 3. เท่าเทียม ทั่วถึง ชุมชนเกื้อกูล ได้แก่ เงินทุนชุมชน ตลาดชุมชน การดูแลสุขภาพ เป็นการตอบโจทย์ทั้ง 17 เป้าหมาย”

น.ส.ดวงพรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สสส.ร่วมออกแบบขบวนการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่หรือตำบลสุขภาวะ ชุมชนสุภาวะ จังหวัดสุขภาวะ ให้เกิดการระเบิดจากข้างใน โดย สสส.สนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลด้วยการเก็บเอง วิเคราะห์เอง และใช้เอง ซึ่งการใช้ภูมิสังคมมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนา พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการนำประสบการณ์ของผู้รู้ในพื้นที่ที่ผสมผสานอัตลักษณ์ของชุมชนแล้ว นำใช้เป็นสาระหลักในการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อขยายพื้นที่ดำเนินงานและขยายสมาชิกของกลุ่ม ทั้งนี้ จากการประเมินแนวทางของ SDGs กับการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ พบว่า ตัวชี้วัดภายใต้ยุทธศาสตร์ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประกอบด้วย 3 ส่วน จัดระบบพื้นที่ (Systematized) สร้างนวัตกรรม (Innovation) และบูรณาการ (Integration) เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการพัฒนาศักภาพการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยและการพัฒนาของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น