ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเผย ป.ป.ช.อังกฤษไม่ให้ข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้างไม่ใช่หน่วยงานสอบสวน จ่อชงหลักฐานให้ ป.ป.ช.ประกอบเรื่อง เน้นสอบละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ พบพิรุธการบินไทยจัดซื้อเครื่องบิน อะไหล่เครื่องยนต์ ส่อเข้าข่ายละเลยเสียงค้านสภาพัฒน์จนเกิดความเสียหาย คาดฟันผู้บริหาร แต่ไม่สาวถึงคณะรัฐมนตรียุคทักษิณ บอกมีหน้าที่แค่เซ็น
วันนี้ (27 ก.พ.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการตรวจสอบกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้สินบนบริษัท การบินไทย กว่า 1,200 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2534-2548 ว่าได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานกระบวนการจัดหา การเงินที่เกี่ยวข้องและมีใครอยู่ในข่าย มีบทบาทหน้าที่อย่างไร โดยทาง สตง.ได้รับคำตอบจาก ป.ป.ช.ของอังกฤษ หรือเอสเอฟโอ ว่าไม่สามารถให้รายชื่อกับ สตง.ได้เพราะ สตง.ไม่ใช่หน่วยงานหลักทำหน้าที่สอบสวน แต่จะส่งให้ ป.ป.ช. ดังนั้น สตง.จะนำหลักฐานส่งให้ ป.ป.ช.ประกอบเรื่องไว้ก่อน
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ส่วน สตง.จะมุ่งตรวจสอบเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติว่าจะมีการละเลย ละเว้นอย่างไรหรือไม่ โดยพุ่งเป้าประเด็นการจัดซื้อเครื่องบินฝูงที่ดำเนินการแล้วก่อให้เกิดความล้มเหลว เสียหายแทน ซึ่งพบว่าการบินไทยมีการจัดซื้อเครื่องบิน A 340-500 จำนวน 3 ลำ เป็นงบลงทุนที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้ความเห็นว่าไม่สมควรเนื่องจากจะทำให้เกิดความเสียหาย แต่ทางการบินไทยยังคงจัดซื้อโดยไม่มีการทบทวน และยังมีการซื้อเพิ่มอีก 1 ลำ รวมถึงซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ถึง 7 ตัว ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อขนาดนั้นเพราะเครื่องยนต์คงไม่เสียพร้อมกัน หรือถ้าจะซื้อก็ไม่จำเป็นต้องซื้อในคราวเดียว สามารถทยอยซื้อได้ซึ่งน่าจะซื้อไม่เกิน 4 ตัว แต่กลับซื้อรวดเดียว 7 ตัว เป็นการจัดซื้อในช่วงที่มีข้อมูลว่ามีการให้สินบนในช่วงที่ 3 คือ ราวปี 2548
ผู้ว่าการ สตง.กล่าวว่า จากการตรวจสอบเห็นว่าเป็นความผิดปกติมาก อาจเข้าข่ายละเลยหรือละเว้นเพราะไม่ฟังเสียงคัดค้านจากสภาพัฒน์ จนทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นข้อพิรุธที่เชื่อมโยงไปถึงการรับสินบนหรือไม่นั้นยังไม่สามารถต่อจนครบวงจรได้ แต่ข้อมูลนี้ก็สามารถเอาผิดเรื่องการละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว ดังนั้น แม้ สตง.จะไม่ได้รายชื่อผู้ให้สินบนแต่ก็จะแกะจากร่องรอยว่ามีการละเลย ละเว้นหรือไม่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารู้อยู่แล้วว่าเสียหายแต่ยังทำก็เข้าข่ายที่ผู้บริหารการบินไทยในขณะนั้นต้องรับผิดชอบ แต่ไปไม่ถึงคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นเพราะมีหน้าที่เพียงแค่อนุมัติงบลงทุนเพื่อรับทราบเท่านั้น จึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่ารัฐมนตรี หรือ ครม.ในขณะนั้นมีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องอย่างไร เพราะจำกัดอยู่เฉพาะในบอร์ดการบินไทยเท่านั้น โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการสรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญาต่อไป
สำหรับการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 จำนวน 5 ลำ เป็นไปตามนโยบายเปิดเส้นทางการบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 ในยุครัฐบาลทักษิณ 1 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 อนุมัติให้การบินไทยจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 จำนวน 3 ลำ และอนุมัติให้จัดซื้ออีก 1 ลำ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งการจัดซื้อในช่วงดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรมว.คมนาคม มีนายทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทย และนายกนก อภิรดี เป็น DD มีการจัดซื้อเครื่องบินตั้งแต่ปี 2545-2547 ทั้งหมดจำนวน 39 ลำ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเส้นทางการบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์กนั้น บอร์ดการบินไทยมีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551 ให้หยุดบินเพราะประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจากปัญหาต้นทุนราคาน้ำมัน ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินเหรียญสหรัฐอ่อนตัวลง ประกอบกับเครื่องรุ่นนี้มี 215 ที่นั่งแม้มีผู้โดยสารเต็มก็ยังขาดทุน อีกทั้งความนิยมในการใช้เครื่องบินรุ่นนี้ทั่วโลกมีน้อยมาก โอกาสการขายจึงยากหรือราคาจะตกลงอย่างมาก หากยังฝืนดำเนินการต่อไปจะขาดทุนถึง 1 หมื่นล้านบาท โดยในขณะนี้เครื่องบินทั้ง 4 ลำอยู่ในระหว่างการจอดรอขาย ในขณะที่การบินไทยต้องแบกภาระด้อยค่าของเครื่องบินปีละกว่า 1.3 พันล้านบาทไปจนถึงปี 2561 รวมการขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินราว 6.8 พันล้านบาท จากราคาที่ซื้อมาอยู่ที่ 16,796.6 ล้านบาท