กมธ.ปฏิรูปสื่อ เพิ่มสัดส่วนตัวแทนสื่ออีก 2 นั่งในสภาวิชาชีพสื่อ รวมเป็น 15 คน ชี้หลังกฎหมายประกาศใช้สื่อเดิมมีใบอนุญาตอัตโนมัติ แต่ต้องขึ้นทะเบียนภายใน 2 ปี ส่วนสื่อหน้าใหม่ต้องอบรมเข้ม-ต้องผ่านประเมิณผลจาก KPI สื่อออนไลน์ต้องเช็คก่อนเข้าข่ายหรือไม่
วันนี้ (27 ก.พ.) พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน แถลงผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... แถลงผลการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเนื้อหาเกือบเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 6 มี.ค.จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.)ในวันที่ 9 มี.ค. เพื่อสรุปว่าจะนำเข้าสู่วาระการประชุม สปท.ได้เมื่อไหร่ ทั้งนี้ได้มีสมาชิกเสนอว่าจะต้องแจกร่างดังกล่าวให้ศึกษาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งที่ประชุมได้มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาหลายแห่งได้แก่ มาตรา 3 คำจำกัดความผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบการ ซึ่งในปี 2020 เทคโนโลยีจะก้าวเข้าสู่ยุค 5 จี ซึ่งจะต้องมีการปรับคำนิยามให้ครอบคลุมไปถึงในช่วงนั้น ส่วนผู้ที่เขียนบทความที่ไม่ประจำจะไม่อยู่ในขอบข่ายนี้ ส่วนในมาตรา 36 ได้แก้ไขจากเดิมที่ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินเป็นผู้ตรวจบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตแทน
พล.อ.อ.คณิตกล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติเดิมจาก 13 คนเป็น 15 โดยได้เพิ่มสัดส่วนของผู้แทนสมาชิกวิชาชีพจาก 5 เป็น 7 คน เนื่องจากพิจารณาให้สื่อภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมด้วย สำหรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในบทเฉพาะกาลกำหนดให้สื่อมวลชนที่ประกอบวิชาชีพก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ให้ถือมีใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ แต่จะต้องไปแจ้งที่กับสภาวิชาชีพฯภายใน 2 ปี แต่สำหรับผู้ที่จะประกอบวิชาชีพสื่อรายใหม่จะต้องเข้ารับการอบรม ทดสอบ ประเมินผล (KPI) ซึ่งรายละเอียดหรือหลักเกณฑ์จะต้องเป็นไปตามที่สภาวิชาชีพฯ กำหนด
ด้าน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานฯ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนของสื่อมวลชนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เจ้าของสื่อหรือต้นสังกัดจะเป็นผู้ออกใบรับรองว่าเป็นสื่อจริง เพื่อขอขึ้นทะเบียนเอง ส่วนคนที่ทำสื่อออนไลน์ต้องดูเจตนาว่าต้องการเผยแพร่ข่าวสารสู่สาธารณะหรือไม่ และมีรายได้ประจำไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ก็ถือว่าเข้าข่ายตามกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดห้ามคณะทำงานสรรหาสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนให้มารับตำแหน่งในสภาวิชาชีพ เพราะถือว่าเป็นเรื่องมารยาท แต่เมื่อมีเสียงทักท้วงก็จะนำประเด็นนี้เข้าสู่การหารือในที่ประชุมครั้งหน้าต่อไป