ทูตอินเดียบุกพบ “รองนายกฯ สมคิด” การันตีโรงงานไทยเรยอน อ่างทอง ของกลุ่มทุนอินเดีย ไร้ปัญหามลพิษจากการใช้ถ่านหิน ย้ำเร่งติดตั้งระบบป้องกันมลพิษแล้ว ด้านรองนายกฯ สั่ง รมว.อุตสาหกรรม ติดตามข้อเท็จจริง เผยรัฐ-เอกชนเบญจภาคี จ.อ่างทอง ไฟเขียวเพิ่มกำลังผลิตแล้ว 80% หลังถูกสั่งลด 50% เพื่อแก้ปัญหากลิ่นเหม็น ตลอด 10 ปีถูกคนอ่างทองแจ้งความ-ร้องเรียนเพียบ
วันนี้ (25 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี (Thaigov.go.th) รายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 ก.พ. นายภวันต์ สิงห์ พิศโนอี (Mr. Bhagwant Singh Bishnoi) เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
โดยตอนหนึ่งระบุว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยยังได้ชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาที่โรงงานบริษัท ไทยเรยอน (Thai Rayon) จังหวัดอ่างทอง ถูกร้องเรียนเรื่องปัญหามลพิษจากการการใช้ถ่านหิน แต่ปัจจุบันโรงงานได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการติดตั้งระบบป้องกันมลพิษแล้ว ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีระบุว่าจะแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรับทราบ และติดตามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว
สำหรับ บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจากกลุ่มทุนประเทศอินเดียในเครือกลุ่มอุตสาหกรรมเบอร์ล่า มีกำลังการผลิตเส้นใยเรยอนประมาณ 151,000 ตันต่อปี และมีกิจการอื่นๆ ในเครือที่อยู่ในไทยอีกกว่า 10 บริษัท
ประชุม 5 ภาคส่วน 16-4 ไฟเขียวไทยเรยอน-อ่างทอง เพิ่มกำลังผลิต 80%
มีรายงานว่า การเข้าชี้แจงต่อรองนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เกิดภายหลังการประชุมคณะกรรมการรัฐ-เอกชน 5 ฝ่าย (เบญจภาคี) เพื่อการตรวจสอบการใช้ถ่านหินและปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นจากการประกอบกิจการโรงงาน บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2560 เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพื่อสรุปผลการตรวจติดตามการปรับปรุงแก้ไขตามแผนและมาตรการลดปัญหา โดยการประชุมครั้งนั้นมีการลงมติ 16 ต่อ 4 เสียง ผ่อนปรนให้โรงงานไทยเรยอนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้
ขณะที่มีการดำเนินการตามแผนการปรับปรุงโรงงานไปแล้วทั้ง 21 มาตรการอย่างครบถ้วน ส่งผลให้การทดสอบดมกลิ่นจาก 7 ชุมชนรอบโรงงานมีค่าต่ำกว่าระดับ 3 ถือว่าไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ชุมชนรอบข้าง ที่ประชุมได้ลงมติปรากฏว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่ผ่อนปรนให้โรงงานไทยเรยอนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ถึง 80% โดยจะต้องทำการปรับปรุงโรงงานตามข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญอีก 7 ข้อ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของโรงงานเอง และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดให้เดินหน้าต่อไปโดยไม่กระทบกับพนักงานและชุมชนรอบข้างโรงงาน
ทั้งนี้ เบญจภาคีดังกล่าว ประกอบด้วย ระหว่างฝ่ายรัฐ ได้แก่ นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง อุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม หน่วยทหารความมั่นคง พร้อมด้วยคณะกรรมการเบญจภาคีจากโรงงาน บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ที่ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง
มีรายงานจาก จ.อ่างทอง ว่าล่าสุดสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทองได้ออกใบอนุญาตให้โรงงานไทยเรยอนก่อสร้างระบบบำบัดกลิ่น งบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหากลิ่นเหม็นที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองดำเนินการ โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง จะเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการอีกครั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
เบญจภาคีขอให้ลดการผลิตเส้นใยเรยอน ลง 50% จากระดับปกติเป็นการชั่วคราว
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) หรือ TR ได้แจ้งมายัง ก.ล.ต.ระบุว่า คณะกรรมการ 5 ภาคส่วนซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้นำท้องถิ่น ประชาชน สื่อมวลชน และโรงงานของบริษัท ขอให้บริษัทลดการผลิตเส้นใยเรยอน (VSF) ลง 50% จากระดับปกติเป็นการชั่วคราว หลังมีปัญหากลิ่นรอบพื้นที่โรงงาน
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการปล่อยก๊าซทั้งหมดตาม พ.ร.บ.โรงงาน และมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอโดยหน่วยงานกำกับดูแลทั้งหมด ถึงแม้ว่าบริษัทได้มีการปรับปรุงระดับการปล่อยก๊าซอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐบาลและสมาชิกในชุมชน แต่การแก้ปัญหาจากประเด็นที่เกิดขึ้น โดยสมาชิกบางรายในชุมชนและสื่อบางส่วน บริษัทได้ส่งแผนการดำเนินงานสำหรับส่งเสริมการปรับปรุงในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟด์ (CS2) และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการทำงานอย่างรวดเร็วทั้งกับชุมชน หน่วยงานราชการต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว บริษัทจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการห้าภาคส่วนเพื่อพิจารณาต่อไป เพื่อให้การผลิตกลับมาอยู่ในระดับปกติ
คนอ่างทองค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน ทุน “อินเดีย” ล้มแผน
สำหรับการตั้งกรรมการ 5 ฝ่ายดังกล่าว เนื่องจากบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) กลุ่มทุนจากประเทศอินเดียซึ่งเป็นโรงงานผลิตเส้นใยประดิษฐ์เรยอน ได้ยื่นขอขยายโรงงานเมื่อปี 2558 เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินซับบิทูมินัส เพื่อผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมในโรงงานไทยเรยอนตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง จากนั้นชมรมรักษ์อ่างทองได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อทาง จ.อ่างทอง โดยมีเหตุผลว่า “การยื่นขอขยายโรงงาน ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมตามกระบวนการ ทำให้ชมรมคนรักษ์อ่างทองได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้าน เนื่องจากที่ผ่านมาชุมชนในพื้นที่ต่างได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองจากโรงงานมานานกว่า 40 ปีแล้ว และยังไม่เคยได้รับการแก้ไข”
ทั้งนี้ การยื่นขอขยายโรงงานมีเพียงการปิดประกาศ ไม่มีการเรียกภาคประชาสังคมมาร่วมด้วย แม้ปัจจุบันโรงงานไทยเรยอนจะยอมรับว่ามีการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง มีปริมาณขนส่งจำนวน 3 เที่ยวต่อวัน ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าจะขนส่ง 300 เที่ยวต่อวัน หรือใช้ถ่านหินราว 320,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด กำลังเตรียมบรรจุเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าในวาระการประชุมเพื่อผลักดันให้อ่างทองเป็นจังหวัดที่ปลอดโรงไฟฟ้าถ่านหินในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทองได้รับแจ้งว่า บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) จะไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว แต่ทางโรงงานจะกลับไปศึกษาการนำเชื้อเพลิงอื่นๆ มาใช้แทนซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกอย่างน้อย 1 ปี
ตลอด 10 ปีชาวบ้านอ่างทองแจ้งความ-ร้องเรียน โรงงานส่งกลิ่นเหม็น
มีรายงานว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายอ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา ต.โพสะ อ.เมืองอ่างทอง ผลิตและจำหน่ายเส้นใยสังเคราะห์รายใหญ่ของประเทศ ใช้สารเคมีหลักประกอบด้วย คาร์บอนไดซัลไฟด์ เป็นของเหลวมีกลิ่นคล้ายกระเทียม กรดกำมะถันเหลือง มีกลิ่นฉุน โซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโซดาไฟ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ มีกลิ่นคล้ายไข่เน่า
ขณะที่โรงงานฯ ถูกชาวบ้านหมู่ 3 ต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.อ่างทอง ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีและร้องเรียนภาครัฐเอาผิดโรงงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จากกรณีโรงงานปล่อยมลพิษทางกลิ่น และฝุ่นละอองสีดำ เช่น เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2556 ชาวบ้านหมู่ 3 ต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.อ่างทอง เข้าแจ้งความที่ สภ.อ.เมืองอ่างทอง ว่าได้รับความเดือดร้อนจากปล่อยมลพิษเข้ามาในหมู่บ้านมานานแล้ว และได้แจ้งให้ทางโรงงานแก้ไขปรับปรัง แต่ก็มีอยู่เป็นระยะ และในครั้งนี้ลูกบ้านทนไม่ไหวแล้วเพราะได้รับความเดือดร้อนทั้งกลิ่นเหม็น พร้อมกับฝุ่นละอองเม็ดฝุนสีดำปลิวตกลงในบ้านจนดำไปหมด และไร้การรับผิดชอบ และจะมีชาวบ้านทยอยเข้าแจ้งความเพิ่มอีก
ขณะที่ภาครัฐได้เข้าไปตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อปี 2552 กรมควบคุมมลพิษ เคยมีคำสั่งปิดสายการผลิตของโรงงานไทยเรยอนเป็นเวลา 30 วัน หลังเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่ารั่วไหลในโรงงานไทยเรยอน ส่งผลให้วิศวกรโรงงานเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 4 คนดังกล่าว ส่งผลให้โรงงานถูกปิดไปโดยปริยายเนื่องจากมีสายพานการผลิตเดียว โดยในช่วงการสั่งปิด โดยโรงงานต้องปรับปรุงการติดตั้งเครื่องตรวจวัดก๊าซไข่เน่า 3 จุด บริษัทถังเก็บก๊าซ และเครื่องดูดซับก๊าซพิษ 3 จุด เพื่อความปลอดภัยของคนงาน
ปี 2556 สำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา 5 กรมโรงงานอุตสาหกรรม เคยเข้าตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมไทย เรยอน จำกัด หลายครั้งเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นบริษัท ไทย เรยอน จำกัด โดยไม่แจ้งให้ทราบ จากการตรวจสอบพบปัญหารอยรั่วของเครื่องจักร หรือบอยเลอร์ ทำให้กลิ่นสารเคมีหลุดรั่วออกไป จึงสั่งให้บริษัทเร่งซ่อมแซมจุดที่ทำให้เกิดกลิ่นฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ยังเก็บผงสีดำที่อยู่ในโรงงานนำไปตรวจสอบว่าเป็นชนิดเดียวกับที่ฟุ้งกระจายไปติดอยู่ตามบ้านเรือนประชาชนหรือไม่