xs
xsm
sm
md
lg

รถเมล์เอ็นจีวี มหากาพย์การโกงข้ามทศวรรษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด

กำหนดการส่งมอบ รถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ผ่านไปแล้วกว่า 2 เดือน บริษัท เบสท์ริน ผู้ชนะการประมูล ยังไม่สามารถส่งมอบได้ เพราะ รถเมล์ที่อ้างว่านำเข้ามาจากมาเลเซีย 489 คัน ถูกกรมศุลกากร ตรวจพบว่า เป็นรถที่ประกอบจากประเทศจีน ไม่ใช่มาเลเซีย เข้าข่ายสำแดงถิ่นกำเนิดเท็จ มีความผิดทางอาญา

รถเมล์เอ็นจีวีที่นำเข้าจากจีน แต่โกหกว่า มาจากมาเลเซีย เพื่อเลี่ยงการเสียภาษานำเข้า 40 % ล็อตแรก 100 คัน ต้องเสียภาษีและค่าปรับคันละ 3.7 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงิน 370 ล้านบาท จึงจะนำรถออกไปได้

เบสท์รินนำรถออกไปเพีนงคันเดียว เหลือ 99 คัน จอดไว้ทื่ท่าเรือแหลมฉบัง เพราะยังไม่มาจ่ายภาษีและค่าปรับ

ล็อตที่ 2 จำนวน 389 คัน ต้องเสียภาษีรวม 597 ล้านบาท ไม่ต้องเสียค่าปรับ ล็อตนี้ นำออกไป แล้ว เตรียมจะส่งมอบให้ ขสมก.

ระหว่างนี้ เบสท์ริน ต้องจ่ายค่าปรับวันละ 8.3 ล้านบาท ให้ ขสมก. เพราะไม่สามารถส่งมอบรถให้ได้ภายในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ตามสัญญา โดยหักจากเงินค้ำประกัน 330 ล้านบาทที่เบสท์ริน วางไว้กับ ขสมก.

เหตุที่ ขสมก. ยังไม่ยอมรับมอบรถ 389 คัน ก็เพราะว่า สำนักงานอัยการสุงสุดแนะนำว่า ควรชะลอการรับมอบไว้ก่อน จนกว่า กรมศุลกากรจะพิจารณาเรื่อง ถิ่นกำเนิดของรถ ว่ามาจาก จีนหรือมาเลเซีย

ข้อสังเกตของสำนักงานอัยการนี้ ถูกใช้เป็นข้ออ้างของ ขสมก. ไม่ยอมยกเลิกสัญญา ทั้งๆที่ เบสท์รินส่งมอบช้ากว่ากำหนดถึงสองเดือน โดยอ้างว่า รอหนังสือยืนยันจาก กรมศุลกากรก่อน หากไปยกเลิกก่อน อาจถูกเบสท์ริน ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ทั้งๆที่ กรมศุลกากรยืนยันชัดเจนว่า รถทั้ง 489 คัน นำเข้าทั้งคันจากจีน ไม่ใช่มาประกอบในมาเลวีย และเตรียมสั่งฟ้อง บริษัทซุปเปอร์ ซาร่า บริษัทในเครือเบสท์รินทร์ ที่เป็นผู้นำเข้ารถ

โครงการจัดหารถเมล์ เอ็นจีวี ของ ขสมก. นี้ จัดว่าเป็นมหากาพย์แห่งการโกงข้ามทศวรรษก็ได้ เพราะว่า เกิดขึ้นมาแล้ว 11 ปี ผ่านมา 5 นายกรัฐมนตรี 5 รัฐบาล จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาถึง รัฐบาลทหาร เพียงแต่ว่า การโกงยังไม่เกิดขึ้น เพราะถูกจับได้ เสียก่อน จนโครงการถูกยกเลิกไป

ที่ว่า โกงก็เพราะว่า แทนที่ ขสมก. ซึ่งเป็นคนจ่ายเงินซื้อรถ เป็นผู้ใช้รถ จะเป็นคนกำหนดว่า ต้องการรถแบบไหน กลับเป็น คนขายรถ ที่กำหนดว่าจะขายรถแบบไหนให้

ทีโออาร์ที่ออกมา จึงเป็นการล็อคสเป็คให้รถที่ผลิตในประเทศจีน ซึ่งเป็นรถที่ดัดแปลง ไม่ใช่รถที่ออแบบมาสำหรับบรรทุกผู้โดยสาร ที่ใช้เอ็นจีวี โดยเฉพาะ

โครงการนี้ เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. 2549 สมัยรัฐบาลไทยรักไทย เดิมจะซื้อรถเมล์ 4 พันคัน มูลค่า 60,000ล้านบาท ซึ่งถูกโจมตีว่า ราคาแพงเกินไป จึงมีการชะลอโครงการเรื่อยมา พร้อมกับ การลดขนาดโครงการลง และเขียนทีโออาร์ ใหม่ รวมแล้ว โครงการนี้ มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทีโออาร์ถึง 12 ครั้ง ซึ่งล้วนเป็นการล็อคสเป็คให้กับผู้ขาย ที่วิ่งเต้นผู้มีอำนาจเอาไว้แล้ว

ปปช. เคยตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชุดศึกษาเฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งคณะอนุกรรมการ ชุดนี้ มีความเห็น ในหลายประเด็นที่เห็นว่าเข้าข่ายไม่เป็นธรรมในการเสนอราคาและคุณสมบัติที่อาจกระทบความปลอดภัยในการให้บริการ โดยได้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการร่างทีโออาร์ แต่ไม่มีการปรับปรุงเงื่อนไขอีกทั้งไม่มีการนำความเห็นดังกล่าวเผยแพร่เพื่อให้สังคมได้รับทราบอีกด้วย

โครงการนี้ ถูกขุดขึ้นมาอีกครั้ง ในยุค คสช. ที่มี พลอากาศเอก ประจิณ จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบด้านการคมนาคม โดยมีการลดขนาด ลดงบประมาณลง ให้ซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเพียง 489 คัน

การประมูลครั้งแรก กลุ่มบริษัทเจวีซีซี ซึ่งมี บริษัท ช. ทวี เป็นแกนนนำ ชนะการประมูล แต่ถูก บริษัทเบสท์ รินทร์ ร้องเรียน จนมีการยกเลิกการประมูล เมื่อปลายปี 2558 และเปิดประมุลใหม่ เมื่อเดือน กรกฎาคมปีที่แล้ว

ครั้งนี้ เบสท์ริน ชนะประมูล ด้วยราคา 3,389 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางเกือบ 700 ล้านบาท มีการเซ็นสัญญาซื้อขายกันเมื่อเดือนตุลาคม และกำหนดส่งมอบรถในวันที่ 29 ธันวาคม โดยบริษัทเบสรินทร์ วางแผนว่า จะนำรถเมล์ใหม่ ไปรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคระรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อทำพิธีรับมอบรถ ในวันที่ 21 ธันวาคม เป็นของขวัญปีใหม่ให้ คนกรุงเทพ ที่จะได้นังรถเมล์ใหม่หลังจากรอมานานถึง 10 ปี

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น มีการปรับคณะรัฐมนตรี นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งดูแล ขสมก. ถูกโยกไปเป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพิชิต อัคราทิตย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมแทน และเข้ามากำกับดูแล ขสมก.

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็ปรากฎข่าว กรมศุลกากร กักรถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน ที่เบสท์รินนำเข้าจาก มาเลเซีย เพื่อส่งมอบให้ ขสมก. เพราะตรวจพบว่า สำแดงเท็จเพื่อเลี่ยงภาษี จึงทำให้รุ้ว่า ที่เบสท์รินทร์ สามารถเสนอราคาได้ต่ำกว่าราคากลางจนชนะประมูลได้ ก็เพราะเลี่ยงภาษี 40 % นั่นเอง

โครงการรถเมล์เอ็นจีวี เกือบจะได้เกิดแล้วในยุค คสช. แต่ต้องมาตกม้าตายในนาทีสุดท้าย เพราะกรมศุลกากรไม่เล่นด้วย ไม่รู้เป็นเด้วยเหตุนี้หรือเปล่า ขสมก. และผู้มีอำนาจที่มีเอี่ยวกับเรื่องนี้ จึงต้องยื้อให้ถึงที่สุด ไม่ยอมยกเลิกสัญญา เพราะเบสท์ริน ได้ลงทุนไปแล้วมิใช่น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น