xs
xsm
sm
md
lg

เปิดยุทธศาสตร์ “ไลน์ 3 ชั้น” ชิงพื้นที่สื่อ “ไก่อู” สนองนายกฯ แก้ปัญหาราชการไม่ทันสถานการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดยุทธศาสตร์ “ไลน์ 3 ชั้น” ชิงพื้นที่สื่อ “ไก่อู” ผุดแผนสนองนายกฯ แก้ปัญหาบิ๊กราชการ ไม่รู้ที่มาข่าวดันระเบียบแนวทางและวิธีปฏิบัติการจัดส่งและรายงานประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์ ใช้ “แอพลิเคชันไลน์” นำร่อง 4 หน่วยงาน “สำนักนายกฯ” เจ้าภาพ ใช้วันแห่งความรัก 14 กุมภาฯ เปิดตัว ดึงระดับปลัดกระทรวง-อธิบดี-บิ๊ก องค์การมหาชน-ผู้บริหารสูงสุดรัฐวิสาหกิจ-โฆษกประจำกระทรวง ร่วมกลุ่มไลน์

วันนี้ (23 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ กรมประชมสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่มี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กำกับดูแลอยู่ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ออกระเบียบแนวทางและวิธีปฏิบัติการจัดส่งและรายงานประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์

อ่านระเบียบฉบับเต็ม http://po.opdc.go.th/files/20170210033950.pdf

มีรายงานว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องมีระเบียบดังกล่าวนั้น คณะผู้จัดทำประกอบด้วย สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรมประชมสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ระบุไว้ว่า ตามแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามแนวทางการสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน กรณีตัวชี้วัดย่อยที่ 2 “ร้อยละการชี้แจงประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์” ซึ่งสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานเจ้าภาพร่วมในการดำเนินการตามตัวชี้วัด ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางและวิธีปฏิบัติการจัดส่งและการรายงานข่าวประเด็นสำคัญซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญตามตัวชี้วัดดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้รับทราบแนวทาง วิธีการ และขั้นตอนการปฏิบัติอย่างละเอียด เกี่ยวกับการจัดส่งประเด็นข่าว และการรายงานประเด็นข่าวของหน่วยงาน เพื่อให้ทันตามห้วงระยะเวลาที่กำหนดได้อย่างทันการณ์ การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กำหนดให้มีระบบสารสนเทศเพื่อการรายงาน ซึ่งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จะเป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาระบบ

“แต่เนื่องจากการพัฒนาระบบดังกล่าวต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควรจึงจะพัฒนาแล้วเสร็จ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถดำเนินการได้ทันที การดำเนินการในระยะแรกจึงได้กำหนดให้มีกลไกการสื่อสารเพื่อใช้ในการจัดส่งประเด็นข่าวและการรายงานประเด็นข่าวสำคัญผ่านทางระบบกลุ่มไลน์ไปพลางก่อน”

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 คณะผู้จัดทำ “แนวทางและวิธีปฏิบัติการจัดส่งและการรายงานข่าวประเด็นสำคัญ” จึงได้จัดทำเอกสารฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินการตามแนวทางการสร้างความรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน ตามตัวชี้วัด “ร้อยละการชี้แจงประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์” และขอขอบคุณผู้แทนจากสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้แทนจากกรมประชาสัมพันธ์ที่บูรณาการในการดำเนินงานและให้ข้อเสนอแนะร่วมกันจนสามารถกำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ตามเอกสารฉบับนี้จนลุล่วงและสำเร็จ และคณะผู้จัดทำหวังว่าเอกสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานให้กับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องต่อไป


เปิดระเบียบจัดส่งและรายงานประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์ แก้ปัญหา “ไม่ทราบครับ”

คณะทำงาน ระบุถึงที่มาของระเบียบดังกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 เห็นชอบแนวทางการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยหัวหน้าส่วนราชการ ได้แก่ ปลัดกระทรวง อธิบดี และหัวหน้า ส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง กรม ตลอดจนผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจและองค์การ มหาชน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสร้างความรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งความสำเร็จในการสร้างความ รับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้า ส่วนราชการทุกแห่ง โดยให้ผู้บังคับบัญชา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนประเมินจากปริมาณและประสิทธิภาพของการชี้แจง ความทันต่อสถานการณ์ และความรับรู้ความเข้าใจของประชาชนตามผลสำรวจของหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้วเป็นปกติ และในกรณีของรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ให้องค์กรกลางที่เกี่ยวข้องนำแนวทางนี้ไปใช้ในการประเมินผู้บริหารด้วย และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรายงานตัวชี้วัดและผลการประเมินตามแนวทางนี้ต่อนายกรัฐมนตรีทราบเป็นรายกระทรวงทุก 3 เดือน

“นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดที่จะจัดการข่าวแบบบูรณาการเพื่อชิงพื้นที่สื่อ ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่าข้าราชการไม่ยอมชี้แจงทำความเข้าใจ การประชุมส่วนราชการหรืองานต่างๆ บางครั้ง ข้าราชการใช้คำว่า “ไม่ทราบครับ” ซึ่งนายกฯ ต้องการนำมาประเมินผลให้เป็นไปตามเกณฑ์”

ขณะที่สำนักงาน ก.พ.ร.ได้เสนอแนวทางการประเมินผลเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดบังคับในการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2559 ในองค์ประกอบการประเมินประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจยุทธศาสตร์แนวทางปฏิรูปภาครัฐ นโยบายเร่งด่วนหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายพิเศษ (Agenda Based) โดย ประเมินผลทุก 6 เดือน และรายงานนายกรัฐมนตรีทราบความก้าวหน้าทุก 3 เดือน ซึ่งตัวชี้วัดบังคับดังกล่าว ก.พ.ร.ในคราวการประชุมครั้งที่ 5/2559 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบกับกรอบการประเมินผลส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

มีรายงานว่า ต่อมาสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นสมควรให้ใช้ระบบ Line Group เพื่อใช้เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไปพลางก่อน โดยได้กำหนดช่องทางการสื่อสาร ผ่านการจัดตั้งกลุ่มไลน์ จำนวน 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มไลน์นี้ เป็นกลุ่มของ “คณะทำงานกำหนดประเด็นการชี้แจงข่าวทันเหตุการณ์” คณะทำงานฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักโฆษก ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลประเด็นข่าวสำคัญทุกวันจากหนังสือพิมพ์ และ Social Media และกรมประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลประเด็น ข่าวสำคัญทางสื่อโทรทัศน์และวิทยุ และร่วมกันประมวลวิเคราะห์และกำหนดประเด็นข่าวสำคัญที่ เผยแพร่ผ่านสื่อ โดยกรอบการกำหนดประเด็นข่าวจะพิจารณาจาก ประเด็นสถานการณ์ปัจจุบัน ประเด็นข่าวที่สื่อมวลชนให้ความสนใจตามระดับ นโยบายสำคัญของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ ประเด็นข่าวที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ประเด็นข่าวที่สาธารณชนให้ความสนใจ


ภารกิจ 3 ไลน์กลุ่ม กำหนดประเด็น/ส่งบิ๊กข้าราชการหาข้อมูล / ชี้แจงนายกฯ

สำหรับกลุ่มไลน์ของ“คณะทำงานกำหนดประเด็นการชี้แจงข่าวทันเหตุการณ์” ประกอบไปด้วย

กลุ่มไลน์ 1 ID - Chat : Issue Discussion Chat “คณะทำงานกำหนดประเด็นการชี้แจงข่าวทันเหตุการณ์”

กลุ่มไลน์ 2 IA - Chat : Issue Assignment Chat การจัดส่งประเด็นข่าวให้แก่ส่วนราชการ องค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการ องค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจ ตอบรับ

กลุ่มไลน์ 3 IR - Chat : Issue Report Chat ส่วนราชการ องค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจ รายงานการชี้แจงประเด็นสำคัญ ที่ทันต่อสถานการณ์

ขณะที่บทบาทของกลุ่มไลน์ต่างๆ โดยกลุ่มแชทไลน์จะแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ 1. ID Chat หรือ Issue Discussion ซึ่งจะเป็นคณะทำงานกำหนดประเด็นการชี้แจงข่าวทันเหตุการณ์ โดยกำหนดเวลาแจ้งในเวลา 09.30 น.ของแต่ละวัน โดยคณะทำงานที่อยู่ในกลุ่มแชทนี้ก็คือคณะทำงานของโฆษกรัฐบาล และกรมประชาสัมพันธ์ ที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ดูแลอยู่ โดยจะมอนิเตอร์สถานการณ์และประเด็นที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจากทุกสื่อ เพื่อกำหนดว่าประเด็นใดควรที่ที่จะชี้แจงหรือตอบโต้ และหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็จะแจ้งในกลุ่มไลน์ ที่ 2 คือ กลุ่ม IA Chat หรือ Issue Assingment Chat โดยเป็นกลุ่มที่คณะทำงานจะแจ้งประเด็นสำคัญให้หัวหน้าส่วนราชการ หรือโฆษกของแต่ละหน่วยงาน สมาชิกในกลุ่มไลน์นี้จะเป็นระดับหัวหน้าส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และการแจ้งประเด็นจะแจ้งในเวลา 10.30 น.ของทุกวัน

ทั้งนี้ แบบฟอร์มการแจ้งนั้น คณะทำงานจะส่งประเด็นว่าเป็นประเด็นใด พร้อมบอกชื่อหน่วยงานที่ต้องชี้แจง รวมถึงกำหนดว่าต้องชี้แจงภายในกี่วัน และบอกถึงที่มาของประเด็นด้วย ขณะที่ผู้รับแจ้งก็มีแบบฟอร์มคือต้องตอบชื่อว่าใครเป็นผู้รับปฏิบัติ ตำแหน่งอะไร หน่วยงานอะไร จากนั้นเมื่อรับไปปฏิบัติแล้วก็จะต้องแจ้งไปกลุ่มไลน์ที่ 3 ที่ชื่อว่า IR Chat หรือ Issue Report Chat หรือกลุ่มรายงานผล มีไว้เพื่อให้ส่วนราชการต่างๆรายงานผลการปฏิบัติการ โดยมีแบบฟอร์มการชี้แจงที่ต้องบอกชื่อ,หน่วยงาน, รายงานผลการชี้แจงประเด็น, วันที่, ผู้ชี้แจงแถลง, สาระสำคัญที่แถลง และช่องทางการเผยแพร่ นอกจากนี้ เมื่อแจ้งทางไลน์แล้วก็ต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติมมาทางอีเมล spokesman@prd.go.th ภายใน 2 วันจากการชี้แจง

ทั้งนี้ การรับทราบหรือการชี้แจงจะเป็นเกณฑ์นำมาประเมินผลงานของหัวหน้าส่วนราชการ โดยมีการประเมินคือ ทำได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ช่องทางการชี้แจงที่ต้องมากกว่าช่องทาง และการตอบว่าตรงประเด็นครบถ้วนตามข้อสงสัยหรือไม่ ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกลุ่มไลน์ในขณะนี้ถึง 500 คน

ทั้งนี้ คณะทำงานยังได้กำหนดรูปแบบและสาระสำคัญของการส่งประเด็น เช่น ข้าพเจ้า .................... ผู้อำนวยการสำนักข่าว หรือ ......................... ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิชาการประชาสัมพันธ์ ขอส่งประเด็นในนาม พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ประจำวันที่ ……. จำนวน …. ประเด็น ดังนี้ 1. ชื่อประเด็น… / หน่วยงานที่ต้องชี้แจง…../ ภายใน … วัน / ที่มา…../ 2. ชื่อประเด็น…/ หน่วยงานที่ต้องชี้แจง…../ ภายใน … วัน / ที่มา…../ 3. ชื่อประเด็น…/ หน่วยงานที่ต้องชี้แจง…../ ภายใน … วัน / ที่มา…../ จบการส่งประเด็น รูปแบบที่คณะทำงานฯ ส่งให้ส่วนราชการ


ปลัดกระทรวง- อธิบดี-ผู้บริหารสูงสุดองค์การมหาชน-รัฐวิสาหกิจเป้าหมายกลุ่มไลน์

มีรายงานด้วยว่า กลุ่มไลน์นี้เป็นระบบการจัดส่งประเด็นสำคัญให้แก่ส่วนราชการ องค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ โดยในแต่ละวันเวลาประมาณ 10.30 น.ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน ดังกล่าว จะถูกส่งเข้ามาในกลุ่มไลน์นี้ กลุ่มไลน์ (IA-Chat) ได้กำหนดสิทธิบุคคลของแต่ละหน่วยงานที่จะสามารถเข้ามาร่วมในระบบนี้ โดยกำหนดไว้ ดังนี้

(1) ปลัดกระทรวง (2) อธิบดี (3) หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง กรม (4) ผู้อำนวยการองค์การมหาชน (5) ผู้บริหารสูงสุดรัฐวิสาหกิจ (6) โฆษกประจำกระทรวง (7) ผู้แทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (8) สำนักโฆษก และศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (9) ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ (10) ผู้แทนสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (11) ผู้แทนสำนักงาน ก.พ.ร. เมื่อส่วนราชการ องค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจ ได้รับประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องแล้ว หัวหน้าหน่วยงานที่ถูกระบุชื่อไว้ จะตอบรับด้วยสาระสำคัญสั้นๆ

ทั้งยังได้กำหนดเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของบุคคลและส่วนราชการเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น กองติดตามและประเมินผลการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.), ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์, กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมประชาสัมพันธ์, กลุ่มพัฒนาสารสนเทศการบริหารศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ ส่วนราชการต้องแนบหลักฐานเอกสารการดำเนินการชี้แจงประเด็นข่าวเพิ่มเติม เช่น ภาพการแถลงข่าว, Press Release, Website, Clip การแถลงข่าวที่ส่วนราชการเผยแพร่ข่าว การชี้แจง ฯลฯ ผ่านทาง e-mail : spokesman@prd.go.th ภายใน 2 วัน นับจากเวลาที่ส่วนราชการรายงานข้อมูลผ่านกลุ่มไลน์ 3 (IR- Chat)

รายงานจากทำเนียบระบุตอนท้ายว่า ขณะที่โฆษกฯ ระบุตอนหนึ่งในคราวประชุมชี้แจงต่อโครงการนี้คือ “กลุ่มไลน์นี้จะต้องใช้รูปโพรไฟล์ที่เป็นรูปตัวเองเท่านั้น เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นใคร ห้ามใช้รูปอวตารอื่นโดยเด็ดขาด”





กำลังโหลดความคิดเห็น