ประธานกรมการสอบสินบนกล้องวงจรปิดรัฐสภา เผยพบบริษัทต่างชาติชนะประมูลต่ำกว่าราคากลาง-ไม่ตอบโจทย์ ประสานขอข้อมูล ป.ป.ช.ถกนอกรอบพรุ่งนี้ เล็งชงประธาน สนช.สัปดาห์หน้า พร้อมเชิญซ้ำ สตง.-ปปง.-ป.ป.ช. เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างโปร่งใส
วันนี้ (21 ก.พ.) พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริการะบุว่ามีการจ่ายสินบนโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดซีซีทีวีในรัฐสภาปี 2549 เปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมสรุปรายงานภาพรวมผลการตรวจสอบแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลที่ได้จากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างกล้องซีซีทีวีของรัฐสภาที่ตรงกันหลายจุด ทั้งช่วงเวลา บริษัทที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งมีแนวโน้มว่าเกิดการทุจริต ตั้งแต่ราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างที่กำหนดไว้ประมาณ 30.7 ล้านบาท โดยบริษัท ไทโก้ ไฟร์ซีเคียวริตี้ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทลูกในไทยเป็นผู้ชนะการประมูลด้วยราคาจัดซื้อจัดจ้าง 29 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าส่วนต่างเกือบ 2 ล้านบาทนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้งานประมูลครั้งนี้หรือไม่ แม้จะมีการแข่งขันการประมูลกันอย่างโปร่งใสถึง 48 ครั้งก็ตาม นอกจากนี้ ยังพบว่าการจัดตั้ง บริษัท ไทโก้ ไฟร์ซีเคียวริตี้ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของต่างชาติในไทย มีสัดส่วนไขว้คนต่างชาติถือหุ้นเกินกว่า 49% ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีรายงานข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาว่า บริษัท ไทโก้ ไฟร์ซีเคียวริตี้ แอนด์ เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ยังได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาในไทยเป็นนอมินี ด้วยมูลค่าการจ้าง 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 2 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ทราบข้อเท็จจริงแต่ได้ประสานขอข้อมูลไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.แล้ว และเตรียมหารือนอกรอบกับ ป.ป.ช.ในวันที่ 22 ก.พ.นี้
พล.อ.อ.วีรวิทกล่าวถึงการตรวจสอบประวัติบริษัท ไทโก้ ไฟร์ซีเคียวริตี้ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ว่า เคยมีการเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท ไทโก้อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 และเป็นคู่สัญญาชนะการประมูลจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ให้กับรัฐสภาครั้งแรกเมื่อปี 2544 จากนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไทโก้ ไฟร์ซีเคียวริตี้ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับบริษัทแม่ และได้รับงานประมูลของรัฐสภาอีกครั้งเมื่อปี 2549 ในการติดตั้งระบบโสตทัศนูปกรณ์เพื่อเผยแพร่ภาพการประชุมคณะกรรมาธิการผ่านทางระบบโทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งสาเหตุการเปลี่ยนชื่อบริษัทนั้นยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ระบบที่มีการติดตั้งนั้นเป็นระบบลิงก์การเผยแพร่ภาพจากห้องกรรมาธิการ 32 ห้อง ห้องประธาน-รองประธานสภา และห้องประชุมสภา โดยทั้งสามจุดต้องติดตั้งกล้องจำนวน 32 ตัว ยังไม่นับรวมกล้องส่วนกลางและสำรอง พร้อมกับติดตั้งจอโทรทัศน์ รุ่นพลาสม่า จำนวนกว่า 40 ตัว โดยที่ผ่านมาไม่มีการนำไปใช้งานจริงเนื่องจากการประชุมคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่ต้องการเผยแพร่ข้อมูลการประชุม ทำให้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อจัดจ้าง และยังเป็นการตั้งงบประมาณกรณีพิเศษที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีปี 2549 ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป การประชุมคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมาได้เชิญตัวแทน สตง., ปปง. และ ป.ป.ช.เข้าร่วม เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างโปร่งใส แต่ยังไม่พบการส่งตัวแทนเข้าร่วมซึ่งจะมีการเชิญอีกครั้งเพื่อให้การพิจารณาและผลสรุปของคณะกรรมการเป็นไปอย่างโปร่งใสมากที่สุด