xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกาสั่ง “กรมเชื้อเพลิงฯ” ระงับจ่าย“ค่าสงวนพื้นที่คืน” ให้ 2 บริษัท ผู้รับสัมปทาน “แหล่งมโนราห์ –นงเยาว์-วาสนา-อมตะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กฤษฎีกาสั่ง “กรมเชื้อเพลิงฯ” ระงับจ่าย“ค่าสงวนพื้นที่คืน” ให้ 2 บริษัทพลังงานยักษ์ ผู้รับสัมปทาน “แหล่งมโนราห์ -แหล่งนงเยาว์-แหล่งวาสนา-แหล่งอมตะ” ที่ระบุได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ย้ำกฎหมายแม้ไม่ใช่ภาษี แต่เป็นเงินที่รัฐรับไว้เพื่อคืนให้แก่ผู้รับสัมปทาน เฉพาะดำเนินการเสร็จในรอบปี ยันผู้รับสัมปทานไม่มีสิทธิขอรับค่าสงวนพื้นที่คืน”ระหว่างปีที่สงวนพื้นที่” แนะกรมเชื้อเพลิงฯแก้กฎหมายรองรับ

วันนี้ (19 ก.พ.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เว็ปไซค์คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2560 เรื่องเสร็จที่ [101/2560] เรื่องการขอรับค่าสงวนพื้นที่คืนของผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าปิโตรเลียม ส่งกลับไปยังกรมเชื่อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงกลังงาน พร้อมส่งหนังสือที่ นร 0908/19 ลงวันที่ 31 มกราคม 2560 ถึงคณะรัฐมนตรี ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายหลังกรมเชื่อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงกลังงาน ได้ทำหนังสือที่ พน 0307/3836 ลงวันที่ 2 ก.ย.2559

ระบุตอนหนึ่งว่า ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ได้มีหนังสือหารือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อพิจารณาแนวทางบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของค่าสงวนพื้นที่เนื่องจากทั้ง 2 บริษัท ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบตกต่ำ ประกอบด้วย 1.กลุ่มบริษัท เอ็มพี บี 5 (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัทเอ็มพี จี 1 (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ็มพี จี11 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทาน และผู้ดำเนินการแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลงได้แก่ แปลงสำรวจหมายเลข บี5/27 จี1/48 และ จี11/48 และ 2. บริษัท คริสเอ็นเนอร์ยี่ (กัลฟ์ ออฟ ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ผู้รับสัมปทานและดำเนินงานในแปลงสำรวจ จี0/48 และ จี6/48 ได้ขอให้พิจารณาการปฏิบัติในการยื่นคำขอรับค่าสงวนพื้นที่คืนก่อนสิ้นระยะเวลาปีที่สงวนพื้นที่

ทั้งนี้ กรมเชื่อเพลิงฯ เห็นว่า อย่างไรก็ตามความในมาตรา 46 แห่งพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 กำหนดให้ได้รับคืนค่าสงวนพื้นที่ได้ เงินค่าสงวนพื้นที่ไม่ใช้เงินภาษี เป็นเพียงเงินที่รัฐรับไว้เพื่อคืนให้แก่ผู้รับสัมปทานหากได้ดำเนินงานสำรวจในพื้นที่สงวนภายในระยะเวลาที่สงวนพื้นที่ในปีนั้น ดังนั้นหากผู้รับสัมปทานได้ดำเนินงานจนครบค่าใช้จ่ายตั้งแต่ต้นปี จึงไม่จำเป็นต้องรอให้ครบปีในการขอรับเงินค่าสงวนพื้นที่คืน

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 5 พิจารณาแล้ว เห็นว่า ประเด็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม สามารถขอรับเงินค่าสงวนพื้นที่คืนได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 45 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ประกอบกับความในข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2514) แล้ว เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิได้รับค่าสงวนพื้นที่คืนเป็นปี ๆ การที่ผู้รับสัมปทานจะขอค่าสงวนพื้นที่คืนมาตรา 46 ที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานขอรับค่าสงวนพื้นที่ในปีนั้นคืนได้ย่อมหมายถึง การขอคืนได้เมื่อสินปีที่ได้มีการสงวนพื้นที่ไว้แล้วนั้น

“โดยผู้รับสัมปทาน ไม่มีสิทธิขอรับค่าสงวนพื้นที่คืนระหว่างปีที่สงวนพื้นที่” ทั้งนี้ หากกรมเชื้อเพลิงฯ เห็นควรให้ผู้รับสัมปทานสามารถรับค่าสงวนพื้นที่ในแปลงสำรวจคืนระหว่างปีการสงวนพื้นที่ได้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของรัฐและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2532 เพื่อจูงใจให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงฯจึงควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขอรับเงินค่าสงวนพื้นที่คืนในกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2514) ออกตามความใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ต่อไป

สำหรับเจตนารมณ์ในการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2532 (เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมจากระบบ Thailand I เป็นระบบ Thailand II ระบุว่า จากเดิมสามารถสงวนพื้นที่ไว้จนสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม เป็นสงวนพื้นที่ได้เพียงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่ระยะวันสิ้นเวลาสำรวจฯแปลงนั้น พร้อมทั้งเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการสงวนพื้นที่ตามกฎหกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2532) ออกตามความในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 จาก ตารางกิโลเมตรละ4,000 บาท เป็นตารางกิโลเมตรละ 100,000 บาท

อ่านความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 ฉบับเต็ม http://web.krisdika.go.th/data/comment/comment2/2560/c2_0101_2560.pdf

มีรายงานว่า สำหรบแหล่งโครงการผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เอ็มพี บี5 (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่ แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข บี5/27 บริษัท เอ็มพี จี1 (ประเทศไทย) จำกัด แหล่งน้ำมันดิบมโนราห์ G1/48 และ บริษัท เอ็มพี จี11 (ประเทศไทย) จำกัด “นงเยาว์” และ “มโนราห์” G11/48 บริษัททั้งหมดตั้งอยู่ที่อาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3

ส่วน บริษัท คริสเอ็นเนอร์ยี่ (กัลฟ์ ออฟ ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด สัญชาติ เคย์แมน ไอซ์แลนด์ ได่รับสัมปทานสำรวจแหล่งวาสนา (Wassana) แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G10/48 และ แหล่งอมตะ จำกัด แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข G6/48 ในอ่าวไทย ตั้งอยู่บนอาคารแอทธินี ทาวเวอร์ โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนปี 2558 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ระบุว่า บริษัท “คริสเอ็นเนอร์จี ลิมิเต็ด” ซึ่งจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ และดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงาน ประสบภาวะขาดทุนสุทธิกว่า 13.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 447 ล้านบาท) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี2558 และส่อเค้าขาดทุนซ้ำอีกในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการเงินต่อสาธารณชน

ขณะที่เมื่อต้นปี 2559 ผู้รับสัมปทานแหล่งนงเยาว์-วาสนา-สงขลา ได้เข้าร่วมนโยบายให้ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศสามารถส่งออกน้ำมันที่มีสารปนเปื้อนในปริมาณสูง (สารหนู-ปรอท) ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น