xs
xsm
sm
md
lg

สั่งดำเนินคดีคนวิจารณ์ “มีตำรวจไว้ทำไม” มันก็เป็นซะงี้ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



ก่อนอื่นก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะระดับผู้บริหารสูงสุดขององค์กรอย่าง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งในที่นี้คือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่ล่าสุด สั่งให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ไปแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เพื่อดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท กับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจที่อ้างว่าทำให้เสียหาย

“หลังจากรับมอบหมายจาก ผบ.ตร. จึงได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่วนรายละเอียดยังไม่ทราบว่าแจ้งความดำเนินคดีกับใครบ้าง ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบก่อน และดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ”

มีรายงานจาก สน.ลุมพินี ระบุว่า ฝ่ายกฎหมาย บช.น. ได้แจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ให้ดำเนินคดี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรอง ผบก.ภ.จว.ชัยนาท ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เนื่องจากกล่าวเนื้อหาในการเสวนาบางช่วงบางตอน ทำให้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของหน่วยงานเสียหาย เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปตรวจสอบเนื้อหาของการเสาวนาทั้งหมด ซึ่งมีนักวิชาการที่เข้าร่วมเสวนาด้วยกัน 4 ท่าน ซึ่งจากการตรวจสอบพบเนื้อหาการเสวนาหลายๆ ข้อความ หลายประโยค กระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อฝ่ายกฎหมายพิจารณาแล้วเข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาท จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เอาผิดกับนักวิชาการ 2 ท่าน ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา มาตรา 328 มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

“ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดกับผู้ที่กล่าวพาดพิงองค์กรได้รับความเสื่อมเสีย เพราะที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พยายามปรับปรุงองค์กร เพื่อให้บริการ อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ถ้ามีใครมาให้ร้ายองค์กร ในฐานผู้นำท่านยอมไม่ได้ ต้องปกป้องชื่อเสียงของตำรวจทั่วประเทศ ถ้าตำรวจคนไหนทำผิด ก็มีมาตรการลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาอยู่แล้ว” รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าว

ต้นสายปลายเหตุเรื่องนี้มาจากวงเสวนาเชิงวิชาการในเรื่อง “ตำรวจไทยมีไว้ทำอะไร” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งในวงเสวนาดังกล่าวได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรุนแรง

ในตอนต้น ที่บอกว่า รู้สึกเห็นใจความรู้สึกของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ต้องมีความรู้สึกโกรธเมื่อลูกน้อง หรือองค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ถูกวิจารณ์ เพราะอีกมุมหนึ่งมันเหมือนกับว่าตัวเองถูกตบหน้าอย่างแรง ยิ่งในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กรเมื่อถูกวิจารณ์กล่าวหาในทางลบมันก็ต้องนั่งไม่ติด บางทีต้องมีอารมณ์โกรธแบบควันออกหู ขณะเดียวกัน อีกอาการหนึ่งเหมือนกับว่ามันต้องออก “แอ็กชัน” ให้เห็นบ้าง

แต่อีกมุมหนึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ก็ต้องเข้าใจความรู้สึกของประชาชนด้วยเหมือนกันว่า พวกเขามีความรู้สึกต่อการทำหน้าที่ของตำรวจอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องย้ำว่า ตำรวจในที่นี้ก็คือ “ตำรวจส่วนน้อย” ที่ไม่ดี มีพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง เชื่อว่า คงไม่ต้องสาธยายกันว่าเป็นแบบไหนกันบ้างให้เกิดอารมณ์โมโหกันขึ้นมาอีก นาทีนี้เชื่อว่าสังคมรับรู้กันดี

ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำใจเหมือนกันว่า การเข้ามาทำหน้าที่เป็นตำรวจย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตำหนิถูกวิจารณ์ เพราะต้องไม่ลืมว่าตำรวจมีหน้าที่สัมผัสกับชาวบ้าน ตั้งแต่เช้ายันดึกตลอดทั้งวัน ด้วยภารกิจดังกล่าวก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อีกทั้งเมื่อตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย เป็นผู้ที่สามารถพกพาอาวุธได้ตามกฎหมาย และที่สำคัญ มีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องหาได้ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงประชาชนทั่วไป ด้วยภารกิจแบบนี้แหละ มันถึงมีโอกาสกระทบกระทั่งกับคนในสังคมได้ตลอดเวลา และโครงสร้างแบบที่เป็นอยู่มันก็ต้องยอมรับว่า ยัง “มีจุดอ่อน” เป็นช่องโหว่ให้เกิดพฤติกรรมไม่ถูกต้องและน่ารังเกียจได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี อาชีพตำรวจมันก็เหมือนกับอาชีพอื่นที่ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกัน อาชีพสื่อมวลชนก็เช่นกันย่อมมี “คนเลว” หรือมีสื่อที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในปัจจุบันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไม่แพ้กัน จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูป

แน่นอนว่า เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาจากวงเสวนาเรื่อง “ตำรวจไทยมีไว้ทำอะไร” ดังกล่าวข้างต้นเมื่อถูกวิจารณ์ตรงๆ มันก็เหมือนถูกจี้ใจดำ ทำให้รู้สึกโกรธทั้งที่เข้าใจว่าคนที่วิจารณ์นั้นน่าจะพูดจากความรู้สึกของสังคมที่มองตำรวจเข้ามาแต่นั่นรับรองว่าเป็นพฤติกรรมของ “ตำรวจส่วนน้อย ”แน่นอน

สำหรับภาพลักษณ์ในทางลบของตำรวจก็ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริงจะด้วยพฤติกรรมไม่ดีของบางคน รวมไปถึงภายใต้โครงสร้างบางอย่างที่เอื้อประโยชน์ในทางลบ อย่างเช่น การแต่งตั้งโยกย้ายแต่ละครั้งมักจะมีเรื่องอื้อฉาวการ “ซื้อขายตำแหน่ง” แทบทุกครั้ง การ “ส่งส่วยให้นาย” หรือตำรวจรับส่วยจากบ่อนการพนัน แหล่งอบายมุขต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจริงและที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยได้พบเห็นการดำเนินคดีกับนายตำรวจเหล่านั้น อย่างมากก็มีการโยกย้ายพ้นตำแหน่งนั้นไปชั่วคราว

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงก็คือ “การซื้อขายตำแหน่งของตำรวจ” เพราะล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เรียกประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติแบบเต็มทีม ซึ่งในคราวนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ก็เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาออกระเบียบหรือเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อปรับปรุงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายของตำรวจเสียใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยืนยันหนักแน่นสาเหตุที่จะต้องออกคำสั่งดังกล่าวก็เพื่อแก้ปัญหาอื้อฉาวที่ว่านั่นแหละ

ดังนั้น ทุกเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงะสะท้อนจากความรู้สึกของชาวบ้านจากภายนอกที่มองเข้ามาข้างใน แน่นอนว่าสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกวิจารณ์ย่อมมีอารมณ์โกรธ แต่ก็ต้องเข้าใจอีกเช่นเดียวกันว่าตำรวจที่ถูกตำหนิมันก็ย่อมเป็นตำรวจบางคนเท่านั้นที่เลว ซึ่งเหมือนกับทุกอาชีพที่ต้องมีคนพวกนี้ปะปน แต่ด้วยอาชีพและภารกิจของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านมันถึงได้โดนหนักหน่อย และนี่แหละถึงเป็นสาเหตุที่มีเสียงเรียกร้องว่าต้อง “ปฏิรูปตำรวจ” อย่างเร่งด่วนไงละ

กรณีที่เกิดขึ้นแทนที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จะน้อมรับฟังและย้ำว่าพร้อมนำไปพิจารณาแก้ไขว่ากันไปตามน้ำ แต่นี่กลับตรงกันข้ามสั่งให้ดำเนินคดีกับคนวิจารณ์ตำรวจ มันก็เหมือนกับว่า “แตะไม่ได้” และที่สำคัญ แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนตามกฎหมายแต่วิธีการ ก็คือ สั่งให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนซึ่งก็คือ “ตำรวจ” นั่นแหละ แม้ว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ความรู้สึกของคนภายนอกที่มองเข้ามามันก็น่าจะออกมาในทางลบขึ้นมาอีก แต่ในเมื่อต้องการออกแอ๊กชั่นอย่างที่เห็นมันก็ช่วยไม่ได้ที่จะต้องบอกว่า “"มันเป็นซะหยั่งงี้” ทุกทีสิน่า !!
กำลังโหลดความคิดเห็น