กรธ.เปิดเวทีฟังร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน “มีชัย” แจงปรับหลักทำงานผู้ตรวจฯ 3 ข้อ เน้นแก้ระบบแทนตัวบุคคล พร้อมนำไปใช้กับองค์กรอิสระอื่น ด้าน “พล.อ.วิทวัส” โอดผู้ตรวจฯเป็นยักษ์ไม่มีกระบอง-เสือกระดาษ เสนอเพิ่มอำนาจส่งเรื่องที่วินิจฉัยให้ “ผู้บังคับบัญชา” สอบได้
วันนี้ (15 ก.พ.) เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดการสัมมนาเรื่อง การรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. ... โดยมี พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยคณะทำงาน ข้าราชการในสังกัด พร้อมด้วยตัวแทนจากพรรคการเมืองซึ่งเป็นพรรคขนาดเล็กเข้าร่วมรับฟัง
โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวเปิดการเสวนาถึงการจัดทำร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ตอนหนึ่งว่า กฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินถือว่าทำยากเพราะไม่ได้ลอกของเดิมมา บางส่วนที่กำหนดไว้จะถือเป็นต้นแบบ ที่จะนำไปใช้กับองค์กรอิสระอื่นด้วย ซึ่งภาพรวมของกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการปรับเปลี่ยนใน 3 ส่วน คือ 1. ทำให้งานไม่ซ้ำซ้อนกับองค์กรอิสระอื่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องงบประมาณ โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เน้นแก้ปัญหาของส่วนรวมมากกว่าทุกข์ของตัวบุคคล จึงเขียนกฎหมายชัดให้การปฏิบัติของผู้ตรวจการแผ่นดิน มุ่งแก้ปัญหาระดับประเทศอย่างเป็นระบบมากกว่ามุ่งหาผู้กระทำผิดรายบุคคล แต่ก็ไม่ให้ละเลยเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ ไม่เฉพาะบุคคล เพื่อที่ว่าประชาชน 75 ล้านคน จะได้ไม่ต้องมาต่อคิว ซึ่งตรงนี้จะปรับปรุงกลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายมีชัยกล่าวว่า 2. กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหน้าที่โดยไม่ต้องมีคนมายื่นคำร้อง ถ้าพบเหตุทำผิดก็ไม่ต้องนั่งรอ นอกจากนี้ ก็ให้ลดขั้นตอนการทำงานของรัฐที่เกินจำเป็น ไม่สร้างกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก เพื่อให้การทำงานตอบสนองการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้างเป็นสำคัญ 3. กระบวนการทำงานอยากให้ปรับเป็นแบบกัลยาณมิตร มากกว่าการใช้กฎหมายเป็นหลัก เหมือนผู้ตรวจการการแผ่นดินของสากล ที่จะใช้การแก้ปัญหาพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ด้วยการพูดโน้มน้าวคู่ขัดแย้ง เพื่อแก้ปัญหาและเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากกว่าใช้กฏหมายฟ้องร้องกันไปมา แต่ให้ใช้อำนาจบารมีแทน ดังนั้น กรธ.จึงไม่เห็นด้วยกับที่องค์กรอิสะที่เขียนกฎหมายมาเสนอให้มีอำนาจฟ้องร้องเองได้ เพราะตรงนี้จะส่งผลให้ส่วนราชการทะเลาะกับประชาชนมากกว่า
ขณะที่ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินเน้นทำหน้าที่ตามที่นายมีชัย ประธาน กรธ.จัดทำร่างกฎหมายลูกในตอนนี้อยู่แล้วคือเน้นการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงลงพื้นที่หลายครั้งเพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหาในต่างจังหวัดจำนวนมาก ส่วนการแก้ไขแบบกัลยาณมิตร ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ยึดแนวทางดังกล่าวเป็นหัวใจในการทำงานมาโดยตลอด เพราะเข้าใจว่ากฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมเป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งในการสร้างความยุติธรรมเท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็มีเสียงสะท้อนจากประชาชนมาว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเปรียบเสมือน “ยักษ์ไม่มีกระบอง” เป็น “เสือกระดาษ” จึงเสนอ กรธ.ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจเสนอเรื่องที่วินิจฉัยแล้ว ส่งไปยังผู้บังคับบัญชาในส่วนราชการที่มีปัญหาเพื่อให้มีการตรวจสอบทางวินัยของข้าราชการ เพราะที่ผ่านมาข้าราชการมักเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย นอกจากนี้ ยังขออำนาจตัวคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาความเห็นต่างของแต่ละส่วนราชการ ให้ได้มาทำงานสืบหาข้อเท็จจริงและข้อตกลงร่วมกันได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ในช่วงเปิดโอกาสให้มีการซักถาม ตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรคได้ท้วงติงถึงการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ไม่ค่อยมีผลงานและมีจุดอ่อนในด้านการประชาสัมพันธ์การทำงาน ทำให้ประชาชนไม่รับทราบถึงหน้าที่บทบาทการทำงาน