xs
xsm
sm
md
lg

“มิลค์บอร์ด” สั่งคืนสิทธิ 6 เอกชนขายนมโรงเรียน หลังถูกตัดสิทธินมดิบไร้มาตรฐาน “สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก” ได้สิทธิคืนค่อนประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“มิลค์บอร์ด” สั่งคืนสิทธิผู้ประกอบการนมโรงเรียน 6 ราย มีผลทันทีเทอม 2/2560 หลังตัดสิทธิโควตา 2 ปี โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2559 เหตุพบคุณภาพน้ำนมดิบไม่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เผยให้คืนสิทธิส่วนที่เหลือ แต่ต้องผ่านการรับรองการผลิตนมโรงเรียนจากบอร์ด อย.ด้วย พบ “สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก” ได้สิทธิการผลิตคืนค่อนประเทศ กว่า 21 ตัน/วัน แถมได้รับสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียน “ภาคอีสาน-ภาคกลาง” เพียบ

วันนี้ (15 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการโคมนม และผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด เมื่อปี 2558 ที่มีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีมติตัดสิทธิ์โควตาผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2559 จำนวน 9 ราย จากคุณภาพน้ำนมดิบไม่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขนั้น

เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมมิลค์บอร์ด และองค์กรส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้มีมติให้เพิกถอนโทษบางส่วนต่อผู้ประกอบการนมโรงเรียนที่ถูกลงโทษ ในการพิจารณาโทษใหม่ เนื่องจากข้อกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปของผู้ประกอบการนมโรงเรียนที่ถูกลงโทษ จำนวน 6 ราย ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษและพิจารณาอัตราเบี้ยปรับเสนอ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2560 ในภาคเรียนที่ 2 /2560 ให้คืนสิทธิส่วนที่เหลือ และผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิคืนต้องผ่านการรับรองการผลิตนมโรงเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการโคนมฯ ระบุว่า ได้พิจารณาโทษใหม่ เนื่องจากกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป กรณีสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก และผู้ประกอบการที่ถูกลงโทษ รวมจำนวน 15 ราย ที่ขอให้มีคำสั่งทุเลาบังคับตามมติคณะกรรมการโคนมฯ เพื่อให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโคนมฯ ดำเนินการต่อไปได้

อ.ส.ค.แจ้งมหาดไทย-ศธ.-เกษตรฯ เปลี่ยนผู้รับมอบอำนาจนมโรงเรียน

มีรายงานว่า อ.ส.ค.ได้ทำหนังสือด่วนแจ้งไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัยและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังได้แจ้งให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน รับทราบ ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงผู้รับมอบอำนาจระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิดำเนินการแทนเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาโทษใหม่ จะได้สิทธิกลับมาผลิตและจำหน่ายนมโรงเรียน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิการผลิตแทนจำนวนที่เหลือ ประกอบไปด้วย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น ได้รับสิทธิแทน อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3.2885 ตัน/วัน, สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด ได้รับสิทธิคืนจาก สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด, อ.ส.ค.ภาคกลาง บริษัท คันทรีเฟรซ แดรี่ จำกัด และบริษัท แมรี่แอนแดรี่ โปรดักส์ จำกัด (นครราชสีมา) จำนวน 21.2800 ตัน/วัน, สหกรณ์ โคนมขอนแก่น จำกัด ได้รับสิทธ์คืนจาก สหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด จำนวน 0.3666 ตัน/วัน, อ.ส.ค.ภาคเหนือตอนบน ได้รับสิทธิคืนจากสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ สหกรณ์เชียงนมเชียงราย บริษัทเชียงใหม่ เฟรซมิลค์ จำกัด จำนวน 3.9016 ตัน/วัน, บริษัท อุดร แดรี่ฟู้ดส์ จำกัด ได้รับสิทธิคืนจาก บริษัทมี่แอนแดรี่ โปรดักส์ จำกัด (อุดรธานี) จำนวน 1.6552 ตัน/วัน, บริษัท สุราษฎร์เฟรซมิลค์ จำกัด ได้รับสิทธิคืนจาก สหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด จำนวน 405723 ตัน/วัน

6 ผู้ประกอบการยื่นอุทธรณ์ได้สิทธิคืนขาย อปท-โรงเรียนเอกชน

มีรายงานว่า ผู้ประกอบการ 6 รายที่ได้รับการคืนสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียน ประกอบด้วย 1.สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จากสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี อ.เขื่อนใน 1 แห่ง อ.เขมราฐ 8 แห่ง จ.สุรินทร์ อ.กาบเชิง 2 แห่ง อ.ลำดวน 1 แห่ง จ.ฉะเชิงเทรา โรงเรียนเอกชน 6 แห่ง อ.บางคล้า และ อ.บางน้ำเปรี้ยว อ.ละ 1 แห่งอ.บางประกง 9 แห่ง อ.พนมสารคาม 6 แห่ง อ.ราชสาส์น 2 แห่ง อ.สนามชัยเขต 1 แห่ง จ.ปทุมธานี โรงเรียนเอกชน 4 แห่ง อ.คลองหลวง 2 แห่ง อ.ลำลูกกาและอ.สามโคก อ.ละ 1 แห่ง อ.หนองเสือ 2 แห่ง โรงเรียนเอกชน 2 แห่ง พื้นที่กรุงเทพฯ โรงเรียนเอกชน 26 แห่ง จ.นนทบุรี โรงเรียนเอกชน 22 แห่ง อ.บางกราย อ.บางบัวทอง อ.เมืองนนทบุรี อ.ละ 1 แห่ง

2. สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก สิทธิคืนจากบริษัท แมรี่แอนแดรี่ โปรดักส์ จำกัด (นครราชสีมา) ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย พื้นที่ กทม.โรงเรียนเอกชน 14 แห่ง จ.นนทบุรี โรงเรียนเอกชน 20 แห่ง

3. บริษัท อุดรแดรี่ฟูดส์จำกัด สิทธิคืนจากบริษัท แมรี่แอนแดรี่ โปรดักส์ จำกัด (นครราชสีมา) ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย จ.อุดรธานี อ.กุดจับ 13 แห่ง อ.เมืองอุดรานี และ อ.หนองวัวซอ อ.ละ 1 แห่ง

4. สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก สิทธิคืนจาก อ.ส.ค.มวกเหล็ก จำกัด ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย จ.สระบุรี โรงเรียนเอกชน 9 แห่ง อ.แก่งคอย 5 แห่ง อ.ดอนพุด 1 แห่ง บ้านหมอ 13 แห่ง อ.พระพุทธบาท 11 แห่ง อ.เมืองสระบุรี 7 แห่ง อ.เส้าไห้ 6 แห่ง อ.หนองแซง 5 แห่ง อ.หนองโดน 1 แห่ง อ.หนองแค 2 แห่ง จ.ปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี 3 แห่ง อ.ประจันตคาม อ.เมืองปราจีนบุรี อ.ละ 1 แห่ง อ.ศรีมโหสถ 4 แห่ง จ.นครนายก โรงเรียนเอกชน 6 แห่ง อ.ปากพลี 3 แห่ง อ.เมืองนครนายก 10 แห่ง อ.องครักษ์ 5 แห่ง

5. สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก สิทธิคืนจากบริษัท คันทรีเฟรซ แดรี่ จำกัด ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย จ.อ่างทอง โรงเรียนเอกชน 8 แห่ง อ.ไชโย 2 แห่ง อ.ป่าโมก 11 แห่ง อ.เมืองอ่างทอง 6 แห่ง จ.ชัยนาท โรงเรียนเอกชน 3 แห่ง อ.วัดสิงห์ 5 แห่ง อ.สวรรคบุรี 6 แห่ง อ.สรรยา 3 แห่ง อ.หนองมะโรง 4 แห่ง อ.หันคา 1 แห่ง

6. สหกรณ์โคนมขอนแก่น สิทธิคืนจากสหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน ประกอบด้วย จ.นครพนม อ.ธาตุพนม และอ.นาแก อ.ละ 1 แห่ง และ อ.ศรีสงคราม 3 แห่ง

มีรายงานว่าเมื่อปี 2558 เฉพาะสหกรณ์โคนมมวกเหล็ก ที่ผ่านมาสามารถผลิตน้ำนมดิบได้ 42.890 ตัน/วัน ได้รับสิทธินมดรงเรียน 278,934 ถุง-กล่อง/วัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 83,683,200 บาท

ปี 58 มิลค์บอร์ด สั่งทำแบล๊คลิสต์ 30 ผู้ประกอบการผลิต/ขาย

ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 มิลค์บอร์ดได้ปรับรายชื่อผู้ประกอบการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2/2559 และใช้ต่อมาจนถึงภาคเรียนที่ 1/2560 ภายหลังรับรายงานจากการตรวจสอบศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและโรงงานผลิตนมในโครงการนมโรงเรียนของรัฐทั้ง 100 แห่ง เมื่อช่วงภาคเรียนที่ 1/2558 พบว่า มีถึง 30 แห่งที่ไม่ผ่านมาตรฐาน

“ผลการตรวจสอบศูนย์นม หากพบว่าปริมาณโซมาติกเซลล์ (Somatic Cell Count) หรือจำนวนเม็ดเลือดขาวเกิน 7 แสนเซลล์/ลูกบาศก์เซนติเมตร และมีของแข็งในน้ำนม (Total Solid) น้อยกว่า 12% ศูนย์นมดังกล่าวจะจะถูกลดสิทธิการจำหน่ายนมเข้าโครงการนมโรงเรียนลง โดยจะลดสิทธิลง 5-20% จากยอดที่ได้รับจัดสรรเดิม รวมถึงมีการพิจารณาขึ้นแบล็คลิสต์ และถอดออกจากการจำหน่ายนมโรงเรียน”

ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในการควบคุมมาตรฐานนมโรงเรียน และมีการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญในการควบคุมคุณภาพนมโรงเรียนที่ต้องมีคุณภาพมาตรฐานที่ดีและได้ลงโทษตัดสิทธิผู้ประกอบการที่ตรวจสอบพบว่า ผลิตน้ำนมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยเป็นไปตามมติของมิลค์บอร์ด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการที่ถูกตัดสิทธิ ที่ผ่านมาได้ให้สมาคมยูเอชที สมาคมพาสเจอไรซ์ และสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นม เข้ามาดำเนินการดูแลในเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตนม

ทั้งนี้ โครงการนมโรงเรียนเป็นโครงการจัดสรรนมฟรีให้แก่เด็กนักเรียนกว่า 7.6 ล้านคนทั่วประเทศ ด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 1.3 หมื่นล้านบาท/ปี ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องคุณภาพนมไม่ดีพอ มีลักษณะจืดจาง ทำให้เด็กปฏิเสธนมโรงเรียนและได้รับสารอาหารน้อย จึงต้องปรับมาตรฐานขึ้นดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น