xs
xsm
sm
md
lg

สรุปวาระแห่งชาติ 3 เดือน “กำจัดผักตบชวา”- หน่วยงาน มท.เก็บได้แค่ 3.8 ล้านตัน-สตง.จ่อสอบต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มท. แจง “บิ๊กป้อม” จำกัดผักตบชวา ที่เป็นวาระแห่งชาติ ระหว่าง 3 เดือนทั่วประเทศ ได้แค่ 3.8 ล้านตัน เหลือค้างในลำน้ำอีกกว่า 40% สั่งจังหวัด - อปท. เดินหน้า “เก็บเล็ก” ระดับผิวน้ำ เผย สตง. เตรียมสอบเพิ่ม หลังรายงานนายกฯเมื่อปีที่แล้ว พบพิรุธ 5 ปี ใช้ 2.5 พันล้าน เฉพาะกรมชลฯ ใช้งบกำจัดผักตบชวา 200 - 240 ล้านบาทต่อปี

วันนี้ (14 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือรายงานผลการแก้ไขปัญหาผับตกชวา ประจำปีงบประมาณ 2559 ตลอด 3 เดือน (ต.ค. - 31 ธ.ค. 2559) ตามโครงการจิตอาสาประชารัฐร่วมใจกำจัดผักตบชวาทั่วไทย ต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กำหนดให้การกำจัดผักตบชวาเป็นวาระแห่งชาติ

ทั้งนี้ ได้มีการจัดแบ่งพื้นที่ในหน่วยราชการส่วนกลาง เพื่อดำเนินการในแม่น้ำสายหลัก โดยสามารถกำจัดผัดตบชวาได้รวม 3,850,592 ตัน คิดเป็นร้อยละ 61.57% ของปริมาณผักตบชวาที่สำรวจได้ จำนวน 6,205,355 ตัน (คำนวณ 31 ม.ค. 2559) โดยประกอบด้วย

1. กรมโยธาธิการและผังเมือง สามารถดำเนินการกำจัดผักตบชวา ได้ 3,043,351 ตัน รับผิดชอบแม่น้ำแม่กลอง (จากเขื่อนแม่กลอง - อ่าวไทย) และแม่น้ำท่าจีน (จากประตูน้ำโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี - อ่าวไทย)

2. กรมชลประทาน สามารถดำเนินการกำจัดผักตบชวา ได้ 382,625 ตัน รับผิดชอบแม่น้ำท่าจีนบางส่วน แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำนครนายก รวมถึงแหล่งน้ำ คู คลองที่ขึ้นทะเบียนเป็นของกรมประทาน

3. กรมเจ้าท่า สามารถดำเนินการกำจัดผักตบชวา ได้ 62,022 ตัน รับผิดชอบแม่น้ำเจาพระยา แม่น้ำลพบุรี และคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำน้อย และแม่น้ำป่าสักบางส่วน

4. กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนที่ไหลผ่าน กทม. ระยะทาง 33 กิโลเมตร และคลองสาขาต่างๆ ในพื้นที่

5. ระดับจังหวัด 76 จังหวัด สามารถดำเนินการกำจัดผักตบชวา ได้ 3,043,351 ตัน ตามคำสั่ง ที่ 1017/2559 ลงวันที่ 23 กันยายน 2559 มีผู้ราชการจังหวัดเป็นประธาน ดำเนินการในแม่น้ำสายรองและแหล่งน้ำปิด โดยสั่งการให้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดรับผิดชอบ ร่วมกับหน่วยทหารในพื้นที่ สำรวจและกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำ คู คลอง ที่มีความกว้าง (ที่ระดับผิวน้ำ) มากกว่า 20 เมตร และแหล่งน้ำปิดที่มีขนาดพื้นที่มากกว่า 200 ไร่ขึ้นไป

ทั้งนี้ ในส่วนความรับผิดชอบขององค์กรบริหารส่วนตำบล (เช่นเดียวกัน สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด) และหน่วยงานที่รับผิดชอบเฉพาะ เช่น พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือทางน้ำที่ได้ที่ได้มีการออกประกาศให้กรมชลประทาน หรือกรมเจ้าท่า เป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ตามรายงานไม่พบว่ามีผักตบชวาใน พื้นที่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต

มีรายงานว่า คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผับตกชวา ได้กำหนดระยะเวลา ให้มีมาตรการกำจัด (เก็บใหญ่) ระหว่างตุลาคม 2559 - มีนาคม 2560 และมาตรการป้องกัน (เก็บเล็ก) โดยให้ จังหวัด และ อปท. ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ป้องกันการเติบโตและขยายพันธุ์ ในทุกสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวยังไม่มีการสรุปการใช้งบประมาณทั้งหมดให้กับคณะกรรมการรับทราบ เนื่องจากใช้งบจากหน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานพื้นที่ รวมถึง อปท. ซึ่งโครงการจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคม 2560 นี้


’งบกำจัดผักตบชวา 200-240 ล้านบาทต่อปี
มีรายงานจากกรมชลประทาน ว่า แต่เดิมกรมชลประทานได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาเป็นรอบเวร โดยใช้งบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปีละ 120 ล้านบาท และกรมชลประทาน ได้ปรับแผนงบประมาณจากเงินเหลือจ่ายเพื่อการกำจัดผักตบชวาอีกประมาณ 120 ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 200 - 240 ล้านบาทต่อปี สามารถกำจัดผักตบชวาได้ประมาณ 6 ล้านตันต่อปี ทั่วประเทศ

“แต่จากนี้ไปจะทำการปรับแผนใหม่ตามวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้การกำจัดผักตบชวาเป็นงานประจำทำต่อเนื่องและเฝ้าระวังตลอดเวลา”

นอกจากนี้ เพื่อให้การกำจัดผักตบชวาเป็นไปอย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้ให้หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง ร่วมกันดูแลทางน้ำ โดยดำเนินการกำจัดผักตบชวาในทางน้ำของตนทุกวัน เสมือนเป็นการเก็บกวาดขยะบนผิวถนน และห้ามปล่อยลงในทางน้ำอื่นโดยเด็ดขาด ส่วนผักตบชวาที่เก็บได้ให้นำไปผลิตเป็นปุ๋ยแจกจ่ายแก่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อไป

สตง.ตามยิก รายงานนายกฯ พิรุธ 5 ปี 2.5 พันล้าน
มีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านั้น นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ได้รายงานข้อมูลผลสรุปงบประมาณและปริมาณการกำจัดผักตบชวา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 - 2559 ถึงนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการแก้ไข หลังจากพบภาพรวมใช้งบประมาณกำจัดผักตบชวา5 ปี จำนวน 2.5 พันล้านบาท สามารถกำจัดได้ปริมาณ 24 ล้านตัน โดยระบุว่า สะท้อนถึงการใช้งบของหน่วยงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความรับผิดชอบและยังขอใช้งบเพิ่มขึ้นทุกปี

สำหรับข้อมูลจาก สตง. ระบุว่า ในช่วงปี 2555-2559 หน่วยงานรัฐหลายแห่ง(คำนวณถึงวันที่ 30 ก.ย. 2559) พบว่า ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 834.88 ล้านบาท (ไม่นับงบประมาณของกรุงเทพมหานคร และกรมทรัพยากรน้ำ) กำจัดไปได้ทั้งสิ้นประมาณ 22.37 ล้านตัน (เฉลี่ยปีละประมาณ 4.47 - 6.99 ล้านตัน) ยังพบว่า กรมเจ้าท่า ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 58,105,689 บาท กำจัดผักตบชวาได้ทั้งสิ้น 1,550,560 ตัน (คำนวณถึงวันที่ 15 ส.ค. 2559) กรมโยธาธิการและผังเมือง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 65,896,679 บาท กำจัดผักตบชวาได้ทั้งสิ้น 2,617,231 ตัน (คำนวณถึงวันที่ 30 ก.ย. 2559) กรมชลประทาน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 710,878,700 บาท กำจัดผักตบชวาได้ทั้งสิ้น 18,200,182 ตัน ขณะที่กรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,559,343,546 บาท กำจัดผักตบชวาได้ทั้งสิ้น 1,813,787 ตัน

กรมชลฯ คำนวณ 3 ปี จ้างแรงคน 40 บาท/ตัน
ขณะที่ เมื่อเร็วๆ นี้ กรมชลประทาน 1 ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดผักตบชวา ได้ชี้แจง การดำเนินการกำจัดผักตบชวาในปีที่ผ่านๆ มา ว่า พื้นที่ความยาวรวมทั้งสิ้นกว่า 486,167 กิโลเมตร โดยเฉพาะอัตราราค่างานในการดำเนินการกำจัดผักตบชวาของกรมชลประทาน นั้น กรมชลประทาน ได้ใช้อัตราราคางานต่อหน่วย ของสำนักมาตรฐานงบประมาณ 1 สำนักงบประมาณ กล่าวคือ การกำจัดวัชพืชด้วยแรงคน อัตรา 3,250 บาทต่อไร่ (จากการสุ่มตัวอย่างผักตบชวา 1 ไร่ หนักประมาณ 80 ตัน) ดังนั้น การกำจัดวัชพืชด้วยแรงคน อัตราราคางานจะอยู่ที่ราคาประมาณ 40.625 บาทต่อตัน หรือ 0.040 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนการกำจัดผักตบชวาหรือวัชพืชด้วยเครื่องจักร อัตราราคางานจะผันแปรไปตามราคาน้ำมันดีเซลเช่น วันที่ 3 มกราคม 2560 ราคาน้ำมันดีเซล 26.09 บาทต่อลิตร อัตราราคางานจะอยู่ที่ราคาน้ำมัน 26.00 - 26.99 บาทต่อลิตร ราคาต่อหน่วยในการกำจัดวัชพืชด้วยเรือ หากเป็นงานที่กรมชลประทานดำเนินการเอง จะอยู่ที่ประมาณ 29.17 บาทต่อตัน หรือ 0.029 บาทต่อกิโลกรัม

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ในช่วงปี 2557 - 2559 กรมชลประทาน ใช้งบประมาณไปกว่า 710 ล้านบาท สามารถกำจัดผักตบชวาได้เพียง 18.2 ล้านตัน นั้น จากการคำนวณเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกำจัดผักตบชวา คือ 710 / 18.2 = 39.01 บาทต่อตัน หรือ 0.039 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทั้งหมดเป็นค่าเฉลี่ยของ 3 ปี โดยใช้วิธีกำจัดผักตบชวาทั้งด้วยแรงคนและเครื่องจักรกล

กำลังโหลดความคิดเห็น