xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” แย้มอาจถกยุบวิป 3 ฝ่าย 15 ก.พ.เชื่อผลสรุปปรองดองไม่ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผยงาน ป.ย.ป. ให้พิจารณากฎหมายแผนปฏิรูปให้เสร็จใน 120 วัน แย้ม 15 ก.พ. อาจยุบวิป 3 ฝ่าย มานั่งในกรรมการ 4 คณะ ยันตั้ง กก. มาช่วยเหมาะสมแล้ว วอนอย่าเพิ่งรังเกียจทหารแจมเพียบ เชื่อผลสรุปไม่ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก วอนช่วยเสนอดีกว่าติเตียน บอกเป็นเวลาเหมาะที่จะคุย ชี้ คู่กรณีถ้าเซ็นสัญญาประชาคมแล้วอย่าลืมทำ

วันนี้ (11 ก.พ.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานของ สนช. ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ในส่วนของ สนช. นั้น เตรียมการไว้ 2 ส่วน คือ 1. ภารกิจที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้ สนช. พิจารณากฎหมายว่าด้วยแผนการปฏิรูปประเทศที่ต้องแล้วเสร็จใน 120 วัน 2. ส่วนที่เกี่ยวกับแม่น้ำ 3 สาย เพราะประธาน สนช. ไปร่วมใน ปยป. ในนามของ สนช. ซึ่ง สนช. คงใช้หลักการสำคัญ ให้เป็นไปตามแนวทางการปฏิรูป 7 ด้าน รวมถึงนำเรื่องการปฏิรูปประเทศที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำแล้วเสร็จและส่งให้รัฐบาลไปแล้ว 27 วาระ ส่วนจะกำหนดแนวทางจัดลำดับ กระจายงานไปส่วนไหนบ้าง ต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศก่อน ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.พ. จะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย หรือ วิป 3 ฝ่าย ซึ่งอาจจะมีการยุบวิป 3 ฝ่าย ให้มาเป็นคณะกรรมการ 4 คณะ คือ คณะกรรมการบริหารแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ คณะสามัคคีปรองดอง

นายสุรชัย กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ป.ย.ป. และในส่วนของสภาฯ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด อาจจะทำให้เกิดความสับสนระหว่างการทำงาน ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ลงมือทำงาน ขอให้มีการทำงานก่อน แต่ในสภาพแบบนี้น่าจะเหมาะสมแล้วทั้ง 4 คณะที่ทำงาน ภายใต้ร่มใหญ่ คือ ป.ย.ป. โดยทั้ง 4 คณะ ต้องมาวางแนวทางการทำงาน จะทำเรื่องที่ได้รับมอบหมายอย่างไร รวมทั้งต้องบูรณาการร่วมกันได้ซึ่งตนคิดว่า บรรยากาศขณะนี้เป็นไปทางที่ดี เพียงแต่ที่ผ่านมาภาคสังคม อาจรู้สึกการปฏิรูปประเทศขับเคลื่อนช้า สังคมจับต้องได้น้อย แต่เสียงสะท้อนเหล่านี้ก็ไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการปรับปรุงการทำงานให้กระชับขึ้น เชื่อมกันได้เร็วขึ้น พยายามลดขั้นตอนทางราชการให้น้อยลง ส่วนที่มี ป.ย.ป. มีทหารเข้าร่วมจำนวนมากอาจเกิดความระแวงในเรื่องการปรองดองนั้น เท่าทราบ ป.ย.ป. ก็ได้เชิญบุคคลจากภายนอกเข้ามาร่วมทำงานมากขึ้น ทั้งภาคเอกชนและภาคอื่นๆ อย่าเพิ่งไปตั้งข้อรังเกียจว่ามาจากทหาร จะเป็นใครก็ได้ที่มีเจตนารมณ์ตรงกันในการสร้างความปรองดอง เป็นที่ยอมรับและเป็นคนกลาง เพื่อหาจุดลงตัวร่วมกันที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ อย่าเพิ่งไปตั้งข้อรังเกียจเป็นทหารหรือพลเรือน

เมื่อถามว่า ครั้งนี้จะทำให้เกิดความแตกต่างจากที่ผ่านมาหรือไม่ ที่ผลสรุปแนวทางปรองดองมักถูกเก็บเข้าลิ้นชัก นายสุรชัย กล่าวว่า คงไม่เป็นอย่างนั้น ครั้งนี้มีความพยายามแก้ไขปัญหาบ้านเมืองในทุกๆ ด้านไปพร้อมกัน ส่วนปัญหาเก่าที่สะสมผ่านกระบวนการปฏิรูปประเทศ ปัญหาที่เคยขัดแย้งเรื่องสังคม ก็ผ่านกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อนำพาประเทศให้ก้าวต่อไป อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย อย่างน้อยให้ข้อเสนอแนะดีกว่าตำหนิติเตียนโดยไม่บอกว่าควรทำอย่างไร

เมื่อถามต่อว่า การเชิญฝ่ายต่างๆ ให้มาร่วมลงนามสัญญาประชาคมแต่ไม่ได้เป็นการผูกมัดให้ต้องทำตาม นายสุรชัย กล่าวว่า คงต้องไปถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้รับผิดชอบ แต่ถ้าตกลงแล้วไม่ทำ ต้องไปถามตัวคู่กรณีว่าอยากเห็นบ้านเมืองสงบ สังคมแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ถ้าตกลงอะไรกันไว้ ก็อย่าลืมตามที่ตกลงและทำตาม ปัญหาบ้านเมืองจะได้จบ อย่างไรก็ดี บรรยากาศความขัดแย้งตอนนี้ดีขึ้นมาก ระยะเวลาได้เยียวยาผู้เกี่ยวข้องได้ระดับหนึ่ง เวลานี้เป็นเวลาเหมาะสมในการมาพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจกัน ให้เป็นแนวทางของประเทศ ถ้าทำอย่างนั้นได้ประเทศก็จะเดินไปได้ด้วยดี
กำลังโหลดความคิดเห็น