xs
xsm
sm
md
lg

รอง ปธ.สนช.จี้ สมาชิกเร่งเคลียร์ กม.ค้างให้เสร็จ มี.ค.แก้ครหาทำไม่ตรง รธน.ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
สนช. สัมมนาสมาชิก “สุรชัย” ปาฐกถาบทบาทภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ยันยังทำงานต่อจนกว่าจะถึงวันเรียกประชุมรัฐสภาใหม่ครั้งแรก ชี้ งานเหมือนเดิมแค่ถอดถอนไม่ได้ ระบุ ม.77 ทำรูปแบบการพิจารณาเปลี่ยนต้องฟังความเห็นและผลกระทบที่เกิดจากกฏหมายมาประกอบด้วย แนะรีบเคลียร์ของเก่าให้เสร็จเดือนหน้า รับงานชุมทั้ง กม.ลูก กฎหมายตาม รธน. และ ของ ครม.

วันนี้ (11 ก.พ.) ที่ห้องประชุมสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดโครงการสัมมนาสมาชิก สนช. ประจำปี 2559 โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทและหน้าที่ สนช. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ สนช. จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 โดยมาตรา 263 ที่ระบุให้ สนช. อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันเรียกประชุมรัฐสภาใหม่เป็นครั้งแรก ซึ่งหมายความว่า สนช. จะทำหน้าที่จนถึงก่อนวันประชุมรัฐสภาใหม่ โดยรัฐธรรมนูญใหม่ สนช. ยังมีภารกิจไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2557 ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย ให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยการตั้งกระทู้ถาม การเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ยกเว้นเรื่องการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งไม่มีอีกแล้ว

นายสุรชัย กล่าวว่า สำหรับการพิจารณากฎหมายจะมีกติกาใหม่เกิดขึ้นในการบัญญัติกฎหมายทุกประเภท คือ มาตรา 77 ที่รัฐธรรมนูญใหม่ ระบุว่า รัฐพึงให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่มีความจำเป็น โดยคำนึงถึงสภาพการณ์ของสังคม โดยเฉพาะวรรคสองไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญใดมาก่อน ที่ระบุว่า รัฐต้องพึงจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้รอบด้าน ทุกระบบ ประกอบการตรากฎหมายด้วย ซึ่ง สนช. ต้องนำเรื่องเหล่านี้มาประกอบในการพิจารณากฎหมายทุกขั้นตอน อีกทั้งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายด้วย นี่คือ โจทย์ใหม่ที่ สนช. ต้องทำให้ชัดเจนส่วนตัวเห็นว่า มาตรา 77 จะมีผลใช้บังคับต่อ สนช. ทันที ทำให้ สนช. ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพิจารณากฎหมายใหม่ให้สอดคล้องกับมาตรา 77

“ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจึงขอความร่วมมือจาก กมธ. ชุดต่างๆ ให้สะสางกฎหมายเก่าที่ค้างอยู่ให้เสร็จในเดือน มี.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงผู้ไม่หวังดีจะมาโตแย้งว่า การพิจารณากฎหมายของ สนช. ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ดังนั้น จากนี้ไปการพิจารณากฎหมายของ สนช. นอกจากจะได้รับร่างกฎหมาย กับหลักการและเหตุผลแล้ว จะมีรายงานรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง รายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากหน่วยงานเจ้าของร่าง ซึ่ง สนช. ต้องนำบทวิเคราะห์เหล่านั้นมาพิจารณาทุกขั้นตอน” นายสุรชัย กล่าว

นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ซึ่ง 4 ฉบับต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าแต่ละฉบับต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งรวมขั้นตอนระบบธุรการด้วย และจากการประสานงานกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งกฎหมายเข้ามาให้พิจารณาพร้อมๆ กันหลายฉบับ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเวลาในพิจารณากฎหมายได้ เพราะจะต้องพร้อมๆ กันหลายฉบับ แต่พอเราบ่นไปมากๆ เข้าก็หาว่าจะไปเลื่อนโรดแมปอีก นอกจากนี้ ทาง สนช. ยังมีกฎหมายที่ต้องพิจารณาตามรัฐธรรมนูญใหม่ เช่น กฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 120 วัน ขณะเดียวกัน กฎหมายที่จะต้องออกตามรัฐธรรมนูญใหม่ 59 ฉบับ ยังไม่รวมถึงกฎหมายที่อยู่ในบัญชีของ ครม. ที่มีความเร่งด่วนอีก 41 ฉบับ รวมแล้วก็ประมาณ 100 ฉบับ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วการพิจารณากฎหมายของสนช.มีความตึงตัวอยู่มาก โดยมีกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจนและไม่มีสิทธิขอขยายเวลาได้
กำลังโหลดความคิดเห็น