xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ลงนามตั้ง “กลุ่มธุรกิจประชารัฐ” ร่วมพิจารณางบปี 61 ตามแผนพัฒนา 6 ภูมิภาค 76 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่ “ ลงนามตั้ง “กลุ่มธุรกิจประชารัฐ” ร่วมพิจารณาแผนงบประมาณพัฒนา 6 ภูมิภาค 76 จังหวัด ปี 2561 ร่วมกับหน่วยงานรัฐ 11 กระทรวง หอการค้า-สภาอุตสาหกรรม ให้อำนาจพิจารณาความเหมาะสม ความพร้อม โครงการ กิจกรรมที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจระดับภาค/จังหวัดนำเสนอ ก่อนจัดทำแผนแม่บทระยะปานกลาง/ยาว เสนออนุกรรมการกลั่นกรองโครงการของรัฐบาล ตามแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2561 วงเงิน 2.5 แสนล้าน

วันนี้ (9 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ แผนบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนกับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2561วงเงิน 250,000 ล้านบาท ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมโครงการตามแผนพัฒนาภาค 6 ภาค (6 คณะ)

ทั้งนี้ คณะทำงานดังกล่าวเพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 แผนบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนกับเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นไปด้วยความเหมาะสม เรียบร้อย และมีประสิทธิภาพโดยประกอบไปด้วย

คณะที่ 1 ภาคเหนือ จำนวน 17 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะทำงาน พร้อมกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวง 11 กระทรวง (วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและกีฬา พัฒนาสังคมฯ เกษตรฯ คมนาคม พาณิชย์ แรงงาน วิทยาศาสตร์ฯ สาธารณสุข อุตสาหกรรม และ ทรัพยากรฯ) ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนเอกชน (ภาคประชารัฐ) ผู้แทนสภาพัฒน์ และผู้แทนสำนักงบประมาณ

คณะที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 20 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี พร้อมกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวง 11 กระทรวง ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนเอกชน (ภาคประชารัฐ) ผู้แทนสภาพัฒน์ และผู้แทนสำนักงบประมาณ

คณะที่ 3 ภาคกลาง จำนวน 19 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ชัยนาม นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยูธยา เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง พร้อมกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวง 11 กระทรวง ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนเอกชน (ภาคประชารัฐ) ผู้แทนสภาพัฒน์ และผู้แทนสำนักงบประมาณ

คณะที่ 4 ภาคตะวันออก จำนวน 6 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ พร้อมกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวง 11 กระทรวง ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนเอกชน (ภาคประชารัฐ) ผู้แทนสภาพัฒน์ และผู้แทนสำนักงบประมาณ

คณะที่ 5 ภาคใต้ จำนวน 9 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี พร้อมกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวง 11 กระทรวง ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนเอกชน (ภาคประชารัฐ) ผู้แทนสภาพัฒน์ และผู้แทนสำนักงบประมาณ

คณะที่ 6 ภาคใต้ชายแดน จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล พร้อมกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวง 11 กระทรวง ผู้แทนหอการค้า ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนเอกชน (ภาคประชารัฐ) ผู้แทนสภาพัฒน์ และผู้แทนสำนักงบประมาณ

ให้อำนาจพิจารณาความเหมาะสมโครงการระดับภาค/จังหวัด ชงอนุกลั่นกรอง

มีรายงานว่า สำหรับคณะทำงานทั้ง 6 คณะ มีอำนาจหน้าที่ ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อเสนอโครงการ กิจกรรม และงบประมาณที่เหมาะสมที่ดำเนินการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561, พิจารณาความเหมาะสมและความพร้อมของโครงการที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและจังหวัด ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แนวทางการพัฒนาภาค และนโยบายของรัฐบาล, จัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 พร้อมจัดทำแผนแม่บท ระยะปานกลางและระยะยาว แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เสนออนุกรรมการกลั่นกรองโครงการตามแผนพัฒนาภาคของรัฐบาล โดยให้ดำเนินตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ล่าสุดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขอให้จังหวัดพร้อมคณะทำงานยุทธศาสตร์ในระดับจังหวัดมา และคณะทำงานระดับกระทรวง ร่วมประชุมตามแผนงานระหว่างวันที่ 13-15 ก.พ.นี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม.แล้ว ขณะที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเตรียมนำเสนอโครงการ 6 ภูมิภาคด้วย

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด จดทะเบียนครบ 76 จังหวัด

มีรายงานว่า สำหรับสำหรับกลุ่มธุรกิจประชารัฐ หรือ “บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด” มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ มีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

โดยคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐทำงานภายใต้ 1 เป้าหมาย 3 กลุ่มงาน 5 กระบวนการ 76 จังหวัด กับอีก 1 ส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) เน้นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป (SMEs/OTOP) และท่องเที่ยวชุมชน เน้น 5 กระบวนการจัดการตลอด Value Chain ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ภายใต้โครงสร้างการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อชุมชน (Social Enterprise) เป็น Holding ระดับประเทศ หรือเรียกว่า บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด

ทั้งนี้ ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ระดับจังหวัด นำร่องเมื่อกลางปี 2559 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ บุรีรัมย์ และจังหวัดภูเก็ต ขณะที่ระยะที่ 2 มีการจดทะเบียน 6 จังหวัด เมื่อเดือน มิ.ย. ระยะที่ 3 มี 7 จังหวัด เมื่อเดือน ก.ย. และระยะที่ 4 ครบทุกจังหวัด เมื่อเดือน ธ.ค. 59

สำหรับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำงานช่วยชุมชนเรื่องการบริหารจัดการองค์ความรู้ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าและรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์สินค้าและมาตรฐานการรับรองสินค้า จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน สร้างความต้องการและหาช่องทางทางการตลาด การจัดจำหน่ายและเชื่อมโยงการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนมีตัวชี้วัด (KPI) เพื่อประเมินผลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เน้นประชาชนที่ประสบความยากจนเพื่อเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

โดยปัจจุบันมีไทยเบฟ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ไทยยูเนี่ยนโฟเซี่ยน (ทียูเอฟ) มิตรผล ฯลฯ ร่วมจดทะเบียนเป็นบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด

ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจประชารัฐมีคณะทำงาน ประกอบไปด้วย คณะทำงานการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ-คณะทำงานการส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ คณะทำงานารส่งเสริมการท่องเที่ยว และ MICE (Meeting,Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) คณะทำงานการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ คณะทำงานการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นภาคธุรกิจนวัตกรรมและการบริการใหม่ (New S-Curve) คณะทำงานการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ คณะทำงานการสร้างรายได้และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ คณะทำงานการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ คณะทำงานการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ คณะทำงานการปรับแก้ไขกฎหมายและกลไกภาครัฐ และ-คณะการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ
กำลังโหลดความคิดเห็น