ประธาน ป.ป.ช.รับชงโละ ป.ป.ช.จังหวัดในกฎหมายลูก หลัง คสช.สั่งระงับการสรรหาเพิ่ม แต่ยังคงสำนักงาน ลุยป้องกันและปราบปราม ยันไม่กระทบงาน เพิ่มสำนักงาน ป.ป.ช.ภาคแทน หวังบูรณาการกระจายงานลงพื้นที่ สอดคล้องกับงานกระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (9 ก.พ.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กำลังยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะตัด ป.ป.ช.จังหวัดออกว่า เรื่องนี้ต้องแยกออกเป็นสองส่วน คือ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมีอยู่ในกฎหมายของ ป.ป.ช. แต่เมื่อมีการดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งไปแล้ว 28 จังหวัด ทาง คสช ก็ได้ระงับการสรรหาเพิ่มเติม ดังนั้น เมื่อทาง ป.ป.ช.ได้เสนอร่าง พ.ร.ป.ไป จึงไม่มีการกำหนดให้มีกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัด และในบทเฉพาะกาลก็ระบุว่าที่ตั้งไปแล้ว 28 จังหวัดเมื่อครบวาระ 4 ปี หรือมีกรรมการคนไหนที่ครบวาระอายุ 70 ปี ก็จะไม่มีการสรรหาแต่งตั้งเพิ่มเติม แต่สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ช.นั้นยังคงมีอยู่ มีข้าราชการอยู่ครบ 76 จังหวัด ทำงานครบทุกมิติทั้งเรื่องป้องกันและปราบปราม ดังนั้น การไม่มี ป.ป.ช.จังหวัดจึงไม่มีผลกระทบต่อการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช. และสำนักงานแต่อย่างใด เพราะทุกเรื่องที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะต้องถูกส่งขึ้นมาผ่านการพิจารณาวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ทั้ง 9 คน
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวอีกว่า ประโยชน์ของกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัดก็มีมาก เพราะบุคคลเหล่านี้คือผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตข้าราชการเป็นผู้ใหญ่ในพื้นที่ ดังนั้น ในมิติของการป้องกันการทุจริตจึงสามารถช่วยทางสำนักงานได้มาก แต่เมื่อระดับนโยบายไม่ต้องการให้มีทางเราก็น้อมรับและดำเนินการตามนั้น นอกจากนี้กำหนดให้มีสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค เพื่อให้ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.ภาคทำหน้าที่บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ป.ป.ช.ในระดับภาค เนื่องจากทางสำนักงานฯ ได้กระจายอำนาจลงระดับพื้นที่ เพื่อให้ความรวดเร็ว เป็นธรรม สอดคล้องกับการบริหารงานด้านกระบวนการยุติธรรมทั้งของศาล อัยการ ตำรวจ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมี 9 ภาคเหมือนกัน