อนุ กสม.ถกปมดีเอสไอไม่รับคดี “บิลลี่” หายตัวเป็นคดีพิเศษ ด้านดีเอสไอยก 3 เหตุผลทำไปต่อไม่ได้ “อังคณา” เหน็บดีเอสไอแค่สืบสวน ยังไม่สอบสวน เชื่อหากทำเต็มที่ไม่เกินความสามารถ เล็งให้ “แม่บิลลี่” ยื่นร้องใหม่ แก้ปัญหาเมียไม่ได้จดทะเบียนจึงเป็นผู้ร้องไม่ได้
วันนี้ (8 ก.พ.) คณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและการเมืองในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีนางอังคณา ลีละไพจิตร กรรมการสิทธิฯ เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณากรณี น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ (มึนอ) ภรรยาของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกระเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้ร้องเรียนว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่รับคดีนายบิลลี่หายตัวไปเมื่อปี 57 เป็นคดีพิเศษ โดยได้มีการเชิญภรรยานายบิลลี่ ตัวแทนดีเอสไอ และผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เข้าหารือ นางอังคณากล่าวหลังการประชุมว่า น.ส.พิณนภา รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังดีเอสไอไม่รับเป็นคดีพิเศษ จากการสอบถามตัวแทนดีเอสไอให้เหตุผลว่าได้สืบสวนเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วไม่สามารถสรุปเรื่องได้ ทำให้มีผลต่อตัวชี้วัดของดีเอสไอ ประกอบกับ น.ส.พิณนภา ไม่ใช่ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายของบิลลี่ แต่หากพบตัวหรือศพนายบิลลี่ ทางดีเอสไอจึงจะดำเนินคดีต่อได้
อย่างไรก็ตาม ทางดีเอสไอก็จะส่งเอกสารเหตุผลที่ไม่รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษมาให้ทาง กสม.ก็จะได้นำมาศึกษาและสรุปเนื่องจากที่ผ่านมาอนุฯ ทำเรื่องการสูญหายมาหลายกรณี และเปรียบเทียบการทำคดีบุคคลสูญหายในต่างประเทศด้วย ซึ่งเห็นว่าตาม พ.ร.บ.คดีพิเศษ 2547 ดีเอสไอมีอำนาจมากพอสมควรที่จะสืบสวนสอบสวนได้มากกว่านี้ และหากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษจะมีช่องทางที่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จึงจะมีการทำหนังสือถึงดีเอสไอสอบถามว่าจะมีแนวทางที่จะทำคดีนี้อย่างไร
“วันนี้ดีเอสไอแค่สืบสวน แต่ไม่ได้สอบสวน ดังนั้น เราคิดว่าถ้าได้ทำงานอย่างเต็มที่ทั้งสืบสวนและสอบสวนก็ไม่น่าจะเกินความสามารถของดีเอสไอ การที่ น.ส.พิณนภา ไม่ได้จดทะเบียนสมรสทำให้ดีเอสไอไม่รับเรื่องเพราะไม่มีภรรยาตามกฎหมายนั้น คิดว่าอาจจะให้มารดานายบิลลี่มาเป็นผู้ยื่นร้องใหม่ หรือมอบอำนาจให้ภรรยานายบิลลี่ดำเนินการจะให้ ซึ่งดีเอสไอก็น่าจะสอบสวนได้แล้วเพราะกฎหมายให้การรับรอง แต่ก็ยอมรับว่า การจะไปตามหาแม่นายบิลลี่ไม่ใช่เรื่องง่าย” นายอังคณากล่าว
ด้าน น.ส.พิณนภากล่าวว่า หากดีเอสไอยื่นมือเข้ามาช่วยก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยได้ แต่พอทางดีเอสไอปฏิเสธรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษก็รู้สึกเสียใจ จากที่ตนได้พูดคุยกับทางดีเอสไอเมื่อครั้งที่ได้เข้ามาในพื้นที่ บอกว่าทางดีเอสไออยู่ไกลและไม่ได้อยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ชำนาญในพื้นที่ ถ้าตำรวจติดตามคดีนี้ชำนาญในพื้นที่มากกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ คดีจะไม่มีความคืบหน้า