รองนายกรัฐมนตรี ยัน 5 ธันวาคม จัดงานวันชาติ วันพ่อ ตามปกติ เผยพระราชพิธีสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช” องค์ที่ 20 ทำเหมือนองค์ก่อน
วันนี้ (8 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการกำหนดให้วันที่ 5 ธ.ค.เป็นวันสำคัญของชาติไทย ขั้นตอนวันนั้นจะเป็นอย่างไร ว่าเรายังไม่พูดถึงขั้นนั้นเพราะมีเวลาอีกหลายเดือน แต่เริ่มต้นเรารู้ว่าเป็นวันชาติ เพราะฉะนั้นสถานเอกอัครราชทูตที่เคยจัดงานวันชาติก็จัดตามปกติ ส่วนประชาชนอาจมีกิจกรรมวันพ่อแห่งชาติเหมือนที่เคยจัด ขณะเดียวกันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ อาจมีการจัดกิจกรรมแสดงความรำลึกถึงพระองค์ท่าน
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะมีการประชุมเรื่องนี้อีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดมีอะไรเป็นพระราชพิธี เพราะวันสำคัญของแผ่นดินมีหลายวันใน 1 ปี บางวันเป็นหยุดบางวันไม่เป็นวันหยุด
“ขอชี้แจงว่าในวันที่ 5 ธ.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นวันสำคัญ รัฐบาลได้รับสนองใส่เกล้าฯ มีมติ ครม.อนุมัติให้เป็นวันหยุด ทั้งนี้กิจกรรมใดๆ ที่เคยจัดก็ให้จัดได้ตามปกติเหมือนเดิม” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
นอกจากนี้ นายวิษณุยังกล่าวถึงพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ในวันที่ 12 ก.พ.ว่า สำหรับพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ได้นำรูปแบบการสถาปนาเมื่อคราวสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มาเป็นแบบอย่าง โดยจะดำเนินการตามทุกขั้นตอน หลังจากพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเสร็จสิ้น พระบรมวงศานุวงศ์ ประธานองคมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี จะเข้าถวายสักการะ ณ ที่นั้น ต่อจากนั้นสมเด็จพระสังฆราชจะเสด็จกลับวัด โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา เมื่อเสด็จกลับวัดจะมีพุทธศาสนิกชนไปรอเพื่อแสดงมุทิตาจิตและถวายสักการะ ส่วนการใช้คำสำหรับพุทธศาสนิกชนที่รู้สึกยินดีที่มีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่จะใช้คำว่า ขอถวายสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช
รองนายกฯ กล่าวว่า สำหรับพระนามสมเด็จพระสังฆราช อาลักษณ์จะอ่านประกาศท่ามกลางที่ประชุมภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในขณะที่คนทั่วไปเรียกสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นตำแหน่ง ส่วนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ เป็นชื่อและสกลมหาสังฆปรินายกเป็นหน้าที่ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ที่ปกครองบังคับบัญชาสังฆมณฑลทั่วประเทศ และการปฏิบัติของบุคคลต้องใช้ราชาศัพท์ เรียกแทนตัวว่าเกล้ากระหม่อม และเรียกพระองค์ท่านว่าฝ่าพระบาท