สัมมนาบทบาทชาติมหาอำนาจที่กระทบต่อยุทธศาสตร์ไทย “ปณิธาน” มองไทยอยู่ยาก ท่ามกลางการแข่งขันเข้มข้นของประเทศมหาอำนาจ หวั่นเกิดสู้รบในทะเลจีนใต้ ผลักดันให้เลือกข้าง แนะ กระชับสัมพันธ์ทุกประเทศแบบลึกซึ้งจะได้คำตอบแก้ปัญหา คาด “ทรัมป์” ขอปรับดุลการค้ากับไทยหลังเสียดุลการค้า 2 หมื่นล้านเหรียญ
วันนี้ (8 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ที่สโมสรวิภาวดีทหารบก พล.อ.สุภกิจ นุตสถิตย์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ วิทยาลัยการทัพสัมพันธ์ ครั้งที่ 1/2560 หัวข้อ “บทบาทของชาติมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย” เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับตัวให้ทันกระแสโลก โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็นวิทยากร โดยการสัมมนาครั้งนี้มีวิทยาลัยการทัพบกเป็นเจ้าภาพและได้เชิญนักศึกษาหลักสูตรหลักประจำวิทยาลัยเสนาธิการทหารสถาบันป้องกันประเทศ วิทยาลัยการทัพเรือ และวิทยาลัยการทัพอากาศ กว่า 400 คนเข้าร่วมการสัมมนา
นายปณิธานกล่าวว่า บทบาทของมหาอำนาจที่มีต่อประเทศไทย คงไม่ต่างไปจากเดิม คือ ต้องการพันธมิตร ต้องการเพื่อน เนื่องจากเขาต้องการแข่งขันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตัวเอง แต่ปัจจุบันการแข่งขันมีความเข้มข้นขึ้นและจะมีผลกระทบต่อไทยมากขึ้นเช่นกันว่าไทยจะเลือกข้างหรือไม่ ถ้าเลือกข้างก็เสี่ยง หากเลือกผิดความยุ่งยากก็ตามมา แต่หากไม่เลือกข้างเลือกที่จะอยู่ตรงกลางก็จะปลอดภัยกว่าซึ่งเรายึดแนวทางนี้อยู่แล้วคือการรักษาสมดุลโดยไม่ขัดแย้งกับใคร แต่จะทำให้ไทยยืนยากขึ้นเนื่องจากประเทศมหาอำนาจกำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภูมิภาคใหม่ที่เราเรียกว่าอินโดแปซิฟิก คือตั้งแต่ตะวันออกกลางจนถึงเอเชียตะวันออก ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย กำลังแข่งขันทางยุทธศาสตร์ที่เข้มข้นเพื่อครองตรงนี้ให้ได้ ใครที่คุมพื้นที่ตรงนี้ได้ก็จะคุมโลก เพราะเศรษฐกิจบริเวณนี้โตมาก เส้นทางเดินเรือ ทรัพยากร เพราะฉะนั้นระหว่างที่เขากำลังแข่งขันกันจะส่งผลกระทบต่อไทยแน่นอนหากเราเดินไม่ดี แต่ในขณะเดียวกันเราก็อยากจะเป็นเพื่อนกับทุกประเทศ
นายปณิธานกล่าวว่า หากเรายืนตรงกลางได้ก็ดี แต่มองว่าเราจะถูกดึงให้ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่งอย่าง ในช่วงนี้สหรัฐอเมริกามาซ้อมรบคอบร้าโกลด์กับกองทัพไทย จีนก็ไม่สบายใจที่สหรัฐฯ มาแสดงแสนยานุภาพในพื้นที่บริเวณนี้ ในขณะเดียวกัน เมื่อเรือดำน้ำของจีนเข้ามาในไทย สหรัฐฯ ก็เป็นกังวล ไม่อยากให้จีนมาป้วนเปี้ยนบริเวณนี้เช่นกัน และไทยเป็นประเทศอยู่ตรงกลางและมีทั้งสองประเทศมหาอำนาจเข้ามา เราก็จะใช้วิธีการแบบไทยไทยเชื่อมสัมพันธ์ที่ดี ถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นผลดี เนื่องจากเราไม่อยากมีปัญหา แต่การดำเนินการวิธีนี้ทำให้เราทำงานยากมากขึ้น ต้องตอบคำถามมากขึ้นว่าทำไมเราจะต้องซ้อมรบกับสหรัฐอเมริกา ทำอย่างไรไม่ให้กระทบจีน
นายปณิธานกล่าวว่า สิ่งที่สหรัฐฯ กังวล คือ ทำอย่างไรให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมองแล้วว่าถ้าหากปล่อยไปเรื่อยๆ จีนจะเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และก็จะมีพลังทางทหาร และขณะนี้เองจีนกำลังสร้างเสริมพลังทางทหารและวางกำลังตามภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯ มองออกว่าอีก 20 ปีข้างหน้า จีน รัสเซีย อินเดีย จะแซงหน้าสหรัฐฯ ไป
“ทรัมป์ไม่ได้ทำอะไรฉาบฉวย ยุทธศาสตร์ที่เขาดำเนินการคิดมานานแล้ว เช่น เขาจะจัดการจีนอย่างไรในเรื่องการเสียดุลการค้า และใช้วิธีการต่อรองชัดเจน เช่น การไปพูดคุยกับไต้หวันซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ของทรัมป์ เพื่อเปิดฉากการต่อรองกับจีนแบบเบา ในขณะเดียวกันจีนก็ต้องคิดหนักว่าจะทำอย่างไร” นายปณิธานกล่าว
นายปณิธานกล่าวว่า การจัดการในการเสียเปรียบและเสียดุลการค้าประเทศไทยก็จะโดนด้วยเนื่องจากประเทศไทยและได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทรัมป์เองก็คงจะคิดหนักเช่นกันว่าจะคุยอย่างไรกับประเทศไทยเพื่อให้ดุลการค้าสหรัฐฯ ดีขึ้นซึ่งมองว่าทรัมป์จะทยอยโทร.มาหาไทยและทุกประเทศเพื่อพูดคุยในเรื่องนี้
นายปณิธานกล่าวต่อว่า สหรัฐฯ ยังกังวลในเรื่องของการก่อการร้ายสหรัฐจะเดินหน้าโจมตีไอซิส ก่อนที่ไอซิสจะโจมตีสหรัฐฯ โดยการประกาศไม่ให้เข้าประเทศและสั่งให้งานความมั่นคงทำแผนเอาชนะไอซิสให้ได้ภายในเดือนนี้ คือแผนที่จะตั้งรับเนื่องจากเขากลัวการก่อการร้ายเพราะขณะนี้เข้ามาแฝงตัวในประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องผู้อพยพซึ่งมีความชัดเจนว่าจะสร้างกำแพงกั้นโดยการนำเงินประเทศเพื่อนบ้านมาดำเนินการ
“ทรัมป์เป็นนักต่อรอง เอาจริงเอาจังเพื่อให้สหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์มากขึ้น และทรัมป์กำลังดำเนินการและต่อรองกับหลายประเทศเพื่อให้สหรัฐฯ มีความเข้มแข็งโดยการส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปคุยกับญี่ปุ่นเกาหลีใต้เพื่อสร้างพันธมิตรในการถ่วงดุลกับจีนซึ่งขณะนี้ที่จีนฉลาด นิ่งมาก ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร ทราบดีว่าสหรัฐฯ กำลังยั่วยุ โดยจีนกำลังให้ความสนใจในเรื่องใหญ่ 2 เรื่องที่กำลังตามมา เรื่องปัญหาทะเลจีนใต้ และการขาดดุลการค้าที่จะตามมา จีนกำลังทบทวนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับสหรัฐฯ” นายปณิธานกล่าว
นายปณิธานกล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปเราต้องคิดตั้งแต่เนิ่นๆ หากมีการสู้รบกันในทะเลจีนใต้ ไทยจะทำอย่างไร ถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะฉะนั้นเราต้องอาศัยการประเมิน ศึกษา สร้างความสัมพันธ์ให้ลึกซึ้งกับทุกๆ ประเทศ ต้องรู้ให้ได้ว่าจริงๆ แล้วสหรัฐฯ จีน รัสเซีย คิดอย่างไรกับเรา เมื่อได้คำตอบเราจะมีแนวทางที่ชัดเจนหากเกิดการสู้บในทะเลจีนใต้