xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2561 พัฒนาจังหวัดละ 5 พันล้าน-กลุ่มจังหวัด 6 ภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดกรอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ปี 2561 ตามโครงการตามแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจในประเทศ เผยเตรียมจัดกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม และ 76 จังหวัด ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาระดับภาค 6 ภาค สัปดาห์หน้าระดมเวิร์กชอป ก่อน มี.ค.ชงนายกฯ เห็นชอบ เผยจังหวัดที่ยังไม่ได้รับจัดสรรงบเพิ่มเติมในปี 60 ให้ขอตั้งงบประมาณปกติ ปี 61 อีกประมาณ 91,000 ล้านบาท

วันนี้ (8 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย เลขาธิการ ก.พ.ร. เลขาธิการสภาพัฒน์ ผอ.สำนักงบประมาณ และประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มอบนโยบาย กรอบแนวทาง และระยะเวลาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายตามโครงการตามแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อหัวหน้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ภายหลังเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการตามแนวแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศ ได้เห็นชอบกรอบแนวทาง และระยะเวลาในการจัดทำแล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบกรอบแนวทาง และระยะเวลาฯ ดังนี้ วันที่ 24 ม.ค.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการถอดบทเรียนโดยการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลาง ภาคเอกชนและภาคประชารัฐ จากนั้นวันที่ 26 ม.ค.ส่วนราชการทีมบูรณาการกลาง ได้ดำเนินการยกร่างแนวทางหลักเกณฑ์การจัดทำแผนภาค วันที่ 30 ม.ค.มีการประชุมสรุปร่างแนวทางหลักเกณฑ์การจัดทำแผนภาค และวันที่ 1 ก.พ.คณะกรรมการกลั่นกรองฯได้ประชุมกำหนดหลักเกณฑ์ภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ภาค 6 ภาคของสภาพัฒน์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.มีการประชุมทบทวนแผน โดยคณะทำงานแผนพัฒนาภาคที่สำนักงบประมาณ และเมื่อวันที่ 7 ก.พ.กระทรวงหมาดไทย ได้เป็นเจ้าภาพชี้แจงผ่านทีวีคอนฟาเรนท์ โดยมอบนโยบาย/แนวทางจัดทำงบประมาณปี 2561

ทั้งนี้ ในวันที่ 12-14 ก.พ.จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คชอป) 6 ภาค แผนพัฒนาระดับภาค 6 ภาค ภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 19 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ภาคใต้ 9 จังหวัด และภาคใต้ชายแดน 5 จังหวัด เพื่อบูรณาการทำงานในระดับภาคที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. วันที่ 11-28 ก.พ.จังหวัดจะร่วมรายงานการทำหน้าที่ รวมถึงการจัดทำแผนและบันทึกคำขอในระบบ e-budgeting หรือการจัดการงบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (Government Budget is prepared electronically)

จากนั้นวันที่ 2-4 มี.ค. สภาพัฒน์ และกระทรวงมหาดไทยจะนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการตามแนวแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ก่อนวันที่ 8 มี.ค.จะจัดส่งแผนให้สำนักงบประมาณ และสุดท้ายวันที่ 10 มี.ค.จะเสนอนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ตามโครงการตามแนวแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

มีรายงานว่า การประชุมชี้แจงดังกล่าว สำนักงบประมาณ และผู้แทน ก.พ.ร.ได้นำเสนอหลักการจัดทำแผนพัฒนาภาค ขณะที่สภาพัฒน์ได้นำเสนอแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ 9 การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ให้หัวหน้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มและผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด รับทราบด้วย

ทั้งนี้ สำหรับลักษณะของโครงการ ที่คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ นำเสนอ ประกอบด้วย 1. เป็นโครงการที่อยู่ในแนวทางของยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค และมีความสอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค และนโยบายของรัฐบาล 2. เป็นโครงการที่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัด กลุ่มจังหวัดในภาคที่มีความเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ในรูปแบบห่วงโซ่คุณค่าที่สามารถเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ภายใต้แนวทาง 5 แนวทาง ประกอบด้วย (1) เพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมการค้าการลงทุน (2) เพิ่มศักยภาพภาคเกษตร (3) เพิ่มศักยภาพภาคท่องเที่ยวและบริการ (4) พัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และ (5) โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ ที่มีระยะเวลาดำเนินการมากกว่า 1 ปี

3. มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมและมาตรฐานสากล สามารถอธิบายได้ว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเกิดผลดีอย่างไร ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างไร มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่าใด มีผลต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) สามารถตอบต่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ร่างกรอบยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค นโยบายของรัฐบาล และแนวทางในเรื่องใด 4. เป็นโครงการที่สนับสนุนแผนงานบูรณาการที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว หรือแผนงานบูรณาการที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 เช่น การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ฯลฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนงานดังกล่าวรวดเร็วขึ้น

5. เป็นโครงการที่สนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาขยายผลในเชิงพาณิชย์หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะการต่อยอดเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 6. เป็นโครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินงาน มีการบูรณาการ 3 มิติ มีการดำเนินการตามแนวประชารัฐ อาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาชน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

7. มีการจัดทำแผนแม่บทระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับภารกิจที่จะดำเนินการ รวมทั้ง มีการจัดทาแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ 8. โครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการเกินกว่า 1 ปี และ/หรือ รายการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท ให้ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้เสนอขอตั้งงบประมาณโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการภายใน 1 ปี และ/หรือ รายการที่มีวงเงินต่ำกว่า 50 ล้านบาท และจังหวัดมีศักยภาพเพียงพอ ให้จังหวัดเป็นผู้เสนอขอตั้งงบประมาณได้

9. มีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายควบคุมอาคาร รวมทั้งได้ตรวจสอบแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายข้อใด 10. การใช้จ่ายงบประมาณต้องคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่ซ้ำซ้อน

มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพิ่งเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มโครงการตามแนวทางสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ(Local Economy) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงินกว่า 110,433 ล้านบาท ส่วนวงเงินคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 ของกลุ่มจังหวัดที่ยังไม่ได้รับจัดสรรอีกประมาณ 91,000 ล้านบาท ให้เสนอเป็นคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 โดยให้กลุ่มจังหวัดจัดทำแผนระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) รองรับไว้ด้วย

ขณะที่ ครม.ได้เห็นชอบงบประมาณพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (พ.ศ. 2560-2564) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ วงเงิน รวม 63,145 ล้านบาท คิดเป็นทั้งหมด 2,505 โครงการโดยในส่วนของแผนพัฒนาจังหวัด 76 จังหวัด ประกอบด้วย โครงการที่ควรสนับสนุนภายในกรอบวงเงินมี 1,279 โครงการ งบประมาณ 20,812,773,201 บาท 18 กลุ่มจังหวัด จำนวน 216 โครงการ งบประมาณ 8,900,936,150 บาท รวมทั้งสิ้น 1,495 โครงการ งบประมาณรวม 29,713,709,351บาท สำหรับโครงการที่ควรสนับสนุนเกินกว่ากรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 1,010 โครงการคิดเป็นงบประมาณ 33,431,394,977บาทรวมทั้งสิ้น 2,505 โครงการ ใช้งบประมาณรวม 63,145,104,328 บาท

โดยที่ผ่านมา นายกฯ ระบุว่า กรอบงบประมาณเพิ่มเติมปี 2560 และกรอบงบประมาณปี 2561 จะต้องสอดคล้องกันในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด



กำลังโหลดความคิดเห็น