หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งเป้าหมายสักเรื่อง สร้างความตื่นตัวทางสังคม กดดันรัฐบาลหน้าให้ทำ ลั่นถ้าเป็นรัฐบาลจะล้มสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแน่ ไปสร้างโรงไฟฟ้าปาล์มแทน ชี้ ตัวเลขเศรษฐกิจไม่สะท้อนความเป็นจริง แนะหาชุดตัวเลขใหม่ เตือนผุดไทยแลนด์ 4.0 อย่าลืมการอยู่ร่วมกันกับเศรษฐกิจยุคเก่า ห่วงอนาคตไม่มีคนทำนา
วันนี้ (4 ก.พ.) ที่สถาบันพระปกเกล้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวบรรยายในหัวข้อการเมืองกับการบริหารเศรษฐกิจไทย ตอนหนึ่งว่า การวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ยุคนี้เป็นไปได้ หรือที่จะมีใครสามารถบอกได้ว่า 20 ปีข้างหน้าประเทศจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จะเขียนอะไรลงไปลึกก็คงไม่ได้ ถ้าบอกว่าการเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปีไว้ อะไรดีก็ทำอะไรไม่ดีก็ยกเลิกไป ถ้าบอกอย่างนั้นก็อยากถามว่าจะเขียนไว้ทำไม และปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย รัฐบาลหนึ่งทำแต่รัฐบาลหลังจากนั้นไม่ทำ ดังนั้น การเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่มีความหมายเท่ากับสร้างความตระหนักให้ประชาชน สร้างความตื่นตัวทางสังคมเพื่อกดดันให้รัฐบาลต่อๆ ไปต้องทำ หากอยากเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี 1. ควรทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 2. การตั้งเป้าหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เด็กไทยต้องสามารถพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา เป็นต้น แต่หากจะเขียนลงรายละเอียดโครงการนั้น โครงการนี้ไม่ได้
“อีกไม่กี่วันนายกฯ จะต้องตัดสินใจเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ซึ่งผมพูดตรงๆ ว่า หากท่านตกลงจะสร้าง ถ้าผมเป็นรัฐบาลผมเลิกได้ผมก็จะเลิก เพราะปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นไม่ได้มีความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงานทดแทน ทั้งที่ควรจะเป็นโรงไฟฟ้าปาล์มแทน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจทั้งจีดีพี หรือตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเก็บข้อมูลนั้น ไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน ถ้าเราบริหารเศรษฐกิจแล้วใช้ตัวเลขนี้มาบริหารก็จะมีปัญหาว่าเราบริหารตอบโจทย์การแก้ปัญหาชีวิตคนได้จริงหรือไม่ ซึ่งปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทย นอกจากนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อ ขณะนี้ประเทศไทยมีตัวเลขที่ต่ำมาก ทั้งที่สมัยที่ตนพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีข้าวแกง 25 บาท ยังหากินได้ แต่ตอนนี้หากินไม่ได้แล้ว และต้องสั่งพิเศษถึงจะอิ่ม ซึ่งแสดงว่าค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ดังนั้น ถึงเวลาที่เราต้องมาหาชุดตัวเลขชุดข้อมูลใหม่แล้ว เพราะตัวเลขที่สวนทางกับความเป็นจริงจะเป็นเรื่องที่อันตราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยนั้นมีประสิทธิภาพเพราะผ่านมาหลายเหตุการณ์ หลายปัญหาก็ยังพอไปได้ แต่ปัจจุบันเราเริ่มเสียความสามารถทางเศรษฐกิจ อาทิ ตัวเลขการส่งออกลดลง ตัวเลขการลงทุนใหม่ลดลง เป็นต้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่า หลายคนอาจเข้าใจว่าตอนนี้เราอยู่ในเศรษฐกิจแบบ 3.0 แล้ว แต่แท้จริงคนส่วนใหญ่เรา คือ 1.0 ดังนั้น จะต้องอาศัยการผสมผสานกัน เพราะอนาคตตนไม่ห่วงเรื่องการใช้เทคโนโลยีของเด็กรุ่นใหม่ แต่ห่วงเรื่องจะมีใครปลูกข้าวให้เรากินหรือไม่ เพราะปัจจุบันชาวนาไม่อยากให้ลูกทำนา ดังนั้นถ้าเดินหน้าเศรษฐกิจแบบ 4.0 นั้น จะต้องไม่ลืมว่า จะอยู่ร่วมกับเศรษฐกิจแบบ 1.0 และ 2.0 ได้อย่างไร ทั้งนี้ การทำให้ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบ 4.0 นั้นโครงสร้างในประเทศต้องรองรับ วันนี้เราประกาศเป็น 4.0 แต่อูเบอร์กลับเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ตนจึงเป็นห่วงว่าถ้าทีมเศรษฐกิจปัจจุบันมองว่า 4.0 คือ เรื่องทางเทคนิคนั้นไม่ถูกต้อง นอกจากนั้น มองว่า การปฏิรูประบบการเงิน ยังไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ 4.0 รวมทั้งการกระจายอำนาจที่เป็นอีกเหตุผลสำคัญเรื่องหนึ่งด้วย