จี้ มท.สกัด “เฒ่าหัวงู” ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-หน่วยราชการภูมิภาค หลังกรรรมการสิทธิฯ ให้ข้อสังเกตปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในการทำงานในหน่วยราชการ เน้น “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ไม่ลด เตือน “นักศึกษาฝึกงาน” ระวัง! แม้ ครม.เคยออกมาตรการ-หลักการให้หน่วยถือปฏิบัติ ยาวเหยียดเมื่อปี 2558
วันนี้ (3 ก.พ.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือที่ มท 0211.3/ว0539 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน ภายหลังได้รับแจ้งจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า พม.ได้รับข้อสังเกตจากกรรมการสิทธิมนุษยนแห่งชาติ ว่ายังพบปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานเกิดขึ้นอยู่ในองค์กรและหน่วยงานท้องถิ่น จึงขอให้ผู้ว่าฯ แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานในภูมิภาคให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ พม.ยังได้ส่งแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงาน ที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่อยู่ในหน่วยงาน รวมทั้งผู้ที่ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในหน่วยงาน เช่น นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับจ้าง รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกคนในหน่วยงานรับทราบและถือปฏิบัติ นอกจากนี้ยังขอให้จังหวัดส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและเสริมสร้างพฤติกรรมแก่บุคลากร อปท.และหน่วยงานในภูมิภาคต่อหน่วยงานดังกล่าวนำไปปฏิบัติ เช่น การให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา, การลดความเสี่ยงจากปัญหา เช่น แต่งกายให้เหมาะสม การจัดห้องทำงานที่เปิดเผยโล่ง มองเห็นได้ชัดเจนหลีกเลี่ยงที่ลับตาหรือทำงานสองต่อสอง มีผู้วางใจอยู่ด้วยในกรณีถูกเรียกเข้าพบหรืองานที่มอบหมายนอกเวลาทำงาน เป็นต้น รวมถึงให้มีการสอดส่องและรายงานพฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในหน่วยงานต่อผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่เพิกเฉยหากมีปัญหาเกิดขึ้นกับผู้ร่วมงาน และควรให้คำปรึกษาให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อร่วมงาน, ผู้บังคับบัญชาการทุกระดับควรทำเป็นแบบอย่างที่ดี และมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันปัญหา, บุคลาการควรมีจิตสำนึกรักศักดิ์ศรี ภาคภูมิใจในการทำงานของตนเอง เห็นคุณค่าการทำงานของตนเองมากกว่าที่จะก้าวหน้าโดยวิธีอื่น
ทั้งนี้ยังขอให้มีกระบวนการแก้ไขและจัดการปัญหาอย่างจริงจัง ทันที รวดเร็ว รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เหมาสมในการสอบข้อเท็จจริง โดยอาจมีบุคคลที่เป็นเพศเดียวกันกับผู้เสียหายหรือเป็นบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ โดยให้ทางจังหวัดเร่งทำหนังสือเวียนดำเนินการทันที
มีรายงานว่า เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ได้เห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ประกอบด้วย หลักการที่หน่วยถือปฏิบัติ 7 ข้อดังนี้ (1) หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงานที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่ทำงานในหน่วยงานรวมทั้งผู้ที่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เช่น นักศึกษา นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับจ้าง ฯลฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทุกคนในหน่วยงานได้รับทราบและถือปฏิบัติ
(2) หน่วยงานต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังในการส่งเสริมความเท่าเทียบกันระหว่างบุคคล เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเน้นการป้องกันปัญหาเป็นพื้นฐานควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ (3) หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และแนวทางในการแก้ไขในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ การจัดสถานที่ทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เช่น จัดห้องทำงานที่เปิดเผย โล่ง มองเห็นกันได้ชัดเจน เป็นต้น
(4) การแก้ไขและจัดการปัญหาอาจใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร การประนอมข้อพิพาทฯ ฯลฯ เพื่อยุติปัญหา หากกระบวนการไม่เป็นทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมายที่หน่วยงานนั้นถือปฏิบัติอยู่ (5) การแก้ไขและจัดการปัญหาต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันที และเป็นไปตามเวลาที่กำหนดในแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน และต้องเป็นความลับ เว้นแต่คู่กรณี ทั้งสองฝ่ายยินดีให้เปิดเผย รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน กรณีที่ขยายเวลาออกไปต้องมีเหตุผลที่ดีพอ
(6) กรณีที่มีการร้องเรียนหรือการรายงานเรื่องนี้ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณีบุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี โดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคู่กรณี บุคคลที่มีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจนเป็นที่ประจักษ์ โดยอาจมีบุคคลที่มีเพศเดียวกับผู้เสียหายไม่น้อยกว่าหนึ่งคน และให้มีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ หากต้องมีการดำเนินการทางวินัย ขอให้คณะทำงานนำข้อมูลเสนอผู้บริหารประกอบการดำเนินการทางวินัย (7) หน่วยงานต้องติดตามผลการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงานอย่างต่อเนื่องและรายงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
สำหรับตัวอย่างแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานซึ่งหน่วยงานต้องจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของบุคลากรในหน่วยงาน เนื้อหาประกอบด้วยเจตนารมณ์ คำนิยาม พฤติกรรมที่พึงปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ กระบวนการจัดการปัญหาอย่างไม่เป็นทางการมาตรการคุ้มครองผู้ร้องทุกข์/พยาน/ผู้ถูกกล่าวหา หน่วยรับเรื่องร้องทุกข์ และช่องทางการร้องทุกข์ เป็นต้น