อดีต ส.ส.นครนายก เรียกร้อง “ประยุทธ์” สางคดีเลี่ยงภาษีขายหุ้น 10 ปีไม่คืบ ปูดมือดีดึงเรื่องออกจากที่ประชุม ศอตช. เตือนอธิบดีกรมสรรพากรเสี่ยงโดน ม.157 พร้อมจับพิรุธรถไฟฟ้าสายสีแดงแพงเกินจริง ซ้ำผิดทั้งทีโออาร์และกฎหมายลั่นขอความเป็นธรรมให้ประเทศ ชงใช้ ม.44 ล้างโกง
วันนี้ (2 ก.พ.) นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ประกาศนโยบายปราบโกง และจะมีการจัดประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) หลังนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม นั่งเป็นประธาน ศอตช.คนใหม่ ตนมีสองเรื่องซึ่งเป็นการทุจริตที่มีใบเสร็จหลักฐานชัดเจน คือ 1. กรณีศาลอาญาพิพากษาจำคุกอดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายกระทรวงการคลัง และเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 4 รายที่ออกหนังสือยืนยันว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐคนละ 5.7 พันล้านบาท กรณีนี้ทางศาลอาญาได้ตัดสินให้ยึดทรัพย์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สามารถเข้ายึดอายัดทรัพย์เพื่อตรวจสอบตามมูลฐานความผิดกฎหมายฟอกเงินได้ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งนี้ ทราบว่าในการประชุม ศอตช.เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 59 มีมือมืดดึงเรื่องนี้ออกจากแฟ้มวาระการประชุม ดังนั้น ในการประชุม ศอตช.ในสัปดาห์นี้อย่าให้มีมือมืดดึงเรื่องการทุจริตต่างๆ รวมทั้งคดีของคิง เพาเวอร์ ออกจากแฟ้มวาระการประชุมอีก ไม่เช่นนั้นตนจะแถลงข่าวแฉให้สังคมทราบว่าใครเป็นคนดึง และใครเกี่ยวข้องอย่างไร
“นี่ถือเป็นตัวอย่างของการทุจริตที่มีอดีตรัฐมนตรีและเจ้ารัฐฝ่ายกฎหมายของกระทรวงเอื้อผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีแก่รัฐ แต่ไม่เข้าใจว่าคนระดับอธิบดีกรมสรรพากรกล้าประกาศผ่านสื่อว่าเลิกหาตัวคนชดใช้ภาษีคืนให้รัฐในกรณีซื้อขายหุ้นชินคอร์ปแล้ว เท่ากับว่าเข้าข่ายมาตรา 157 หรือไม่อย่างไร”
นายชาญชัยกล่าวอีกว่า 2. การทุจริตโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางตั้งงบฯ ก่อสร้างครั้งแรกเมื่อ พ.ค. 2551 รวมทั้งสิน 73,347 ล้านบาท ต่อมามีการตรวจสอบปรับลดวงเงิน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2552 เหลือ 61,278 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 ช่วงของการก่อสร้างตลอดเส้นทาง ซึ่งมี 4 บริษัทใหญ่เข้าประมูลในวันที่ 4 ก.ค. 2554 หลังประกาศผลการเลือกตั้งในปีนั้นเพียง 1 วัน บริษัท ซิโน-ไทย กลัวว่าจะไม่ได้งานจึงลดราคาจากการประมูลลงมาอีก 3,400 ล้านบาท ชี้ให้เห็นว่าราคาประมูลงานนี้ บริษัทรับเหมาตั้งราคาประกวดสูงกว่าราคากลางที่ตั้งไว้ยังสามารถลดลงได้อีก ปรากฏว่าสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทางผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.และบอร์ดมีมติให้หาราคากลางที่เหมาะสม โดยอ้างว่าระเบียบสามารถเพิ่งหรือลดวงเงิได้อีก 10% คิดเป็นเงิน 7,500 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มวงเงิน ทั้งที่ต้องกู้เงินลงทุนจากไจก้าของญี่ปุ่น ถือว่าเป็นการทำผิดระเบียบจัดซื้อจัดจ้างฯ ผิดทีโออาร์ และผิด พ.ร.บ.การเสนอราคา พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
“ถือเป็น 2 ตัวอย่างโครงการทุจริต ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ควรสะสาง โดยเฉพาะโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในอดีต ที่มีการบวกตัวเลขจากราคากลางไว้มาก แม้จะส่งเรื่องร้องไปยัง ป.ป.ช.แล้ว แต่ก็ถูกดองเค็มไว้ไม่ได้ทำอะไร ทั้งๆ ที่มีหน้าที่โดยตรง เพราะหลายหมื่นล้านบาทจากหลายๆ โครงการ รวมกันได้หลายแสนล้านบาทที่ไม่มีการรักษาผลประโยชน์ให้รัฐ จึงขอความเป็นธรรมให้ประเทศไทย และขอให้นายกฯ ใช้ มาตรา 44 ย้ายคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งให้คุณและโทษได้ออกไปก่อน พร้อมใช้กฎหมาย ปปง.เข้ายึดอายัดทรัพย์เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของที่มาที่ไปของทรัพย์สิน การปราบโกงจึงจะสำเร็จ” นายชาญชัยกล่าว