ตัวแทนองค์กรสื่อฯ ยื่นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร้องค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อมวลชน ขอ สปท.ชะลอรับรอง ให้ไปทบทวน เปลี่ยนตัวประธาน กมธ.เอาคนเข้าใจงานเป็นแทน ยันพร้อมร่วมมือ “เทพชัย” ปัดตัวแทนสื่อดอดกินข้าว โวยถูกบิดเบือน ห่วงรัฐปฏิรูปจะถูกแทรกแซงทำเสรีภาพสู่ยุคมืด ด้าน “อลงกรณ์” รับตอบไม่ได้จะเบรกทันหรือไม่ เล็งชงหลักการสำคัญให้พิจารณาด้วย แต่แนะสื่อก็ควรปฏิรูปตัวเอง
วันนี้ (2 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย, นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้ายื่นข้อร้องเรียนและคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.รบ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต่อนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. หลังจากที่ กมธ.ปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เตรียมนำเสนอร่างกฎหมายและรายงานที่เกี่ยวข้องต่อที่ประชุม กมธ.วิสามัญกิจการ สปท. (วิป สปท.) ในวันนี้ (2 ก.พ.)
ทั้งนี้ สาระสำคัญที่ตัวแทนสื่อมวลชนระบุไว้ในจดหมายเปิดผนึก คือ ต้องการให้ สปท.ชะลอการรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ และให้ กมธ.ด้านสื่อสารมวลชน นำเนื้อหากลับไปทบทวนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ, ขอให้เปลี่ยนบุคคลที่ทำหน้าที่ประธาน กมธ.ด้านสื่อมวลชน ที่มี พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร สปท.เป็นประธาน และคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจต่อการปฏิรูปสื่อมวลชนทำหน้าที่แทน และแสดงเจตนารมณ์ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือกับ สปท.ต่อการปฏิรูปประเทศทุกด้าน
ด้านนายเทพชัยกล่าวยืนยันว่า องค์กรสื่อฯ หรือสมาพันธ์สื่อมวลชนไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาร่างกฎหมายด้านสื่อมวลชน ตามที่มีผู้ระบุว่าตัวแทนสื่อมวลชนได้ร่วมรับประทานอาหารกับ กมธ. และถูกอ้างว่าเป็นการให้ความเห็นชอบกับเนื้อหานั้นไม่เป็นความจริงและมีการบิดเบือน อย่างไรก็ตามองค์กรสื่อมวลชนพร้อมเข้าสู่วาระการปฏิรูปแต่ต้องเป็นกลไกที่ไม่ใช่ที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดำเนินการ เพราะมีความกังวลว่าจะถูกแทรกแซงและทำให้สถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนย้อนไปสู่ยุคมืด
ขณะที่นายอลงกรณ์กล่าวยืนยันว่า ตนจะรับข้อเสนอและข้อร้องเรียนขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าสู่การประชุมวิป สปท. แต่คงไม่สามารถให้ตัวแทนองค์กรเข้าประชุมเพื่อชี้แจงในรายละเอียดหรือข้อโต้แย้งในสาระของรายงานของ กมธ.ด้านสื่อมวลชนได้ เพราะต้องให้วิป สปท.ทำงานอย่างมีอิสระ ส่วนคำตอบที่ว่าจะชะลอการพิจารณารายงานและร่างกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่ ตนไม่สามารถตอบแทนสมาชิก สปท. หรือวิป สปท.ได้ ดังนั้นขอให้รอฟังผลการพิจารณาหลังการประชุม
“ในการพิจารณาเรื่องนี้ โดยการปฏิรูปสื่อมวลชนต้องยึดหลัก 5 ประการ คือ สิทธิ, เสรีภาพ, การทำงานโดยอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง, จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ, ความรับผิดชอบต่อการทำหน้ที่ และการมีส่วนร่วมของประชาชน และถูกขับเคลื่อนออกมา 3 วาระ คือ วาระกำกับสื่อมวลชน, วาระสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบ และวาระที่สื่อปลอดการแทรกแซง ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ผมจะนำเสนอให้เป็นหลักการสำคัญของการพิจารณาเนื้อหา ขณะที่สื่อมวลชนเองต้องตระหนักถึงการปฏิรูปตนเองด้วย” นายอลงกรณ์กล่าว
รายละเอียดหนังสือที่ยื่นต่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร
จดหมายเปิดผนึก
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
เรื่อง การคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
เรียน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผ่านประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ............... เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามความทราบแล้วนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ๓๐ องค์กรตามรายชื่อท้ายจดหมายนี้ เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ..... ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วนั้น มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพยายามท้วงติงและนำเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .... ที่เน้นหลักการส่งเสริมเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพรวมถึงการกำกับดูแลกันเองของคนในวิชาชีพ ให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ สภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณา แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ และยิ่งกว่านั้น ยังได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้น โดยจะมีผลให้อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาครอบงำสื่อมากกว่าที่ผ่านมา
ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงจัดทำข้อเรียกร้องมายังสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศดังต่อไปนี้
1) ขอให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศชะลอการให้การรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ และให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ กลับไปทบทวนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
2) ขอให้สมาชิกสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศพิจารณาเปลี่ยนแปลงประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ เพื่อให้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องปฏิรูปสื่อมวลชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน เนื่องจากที่ผ่านมา ประธานคนปัจจุบันได้ยอมรับว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องนี้ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยอ้างว่าได้รับประทานอาหารหารือผู้แทนองค์กรวิชาชีพให้ยอมรับร่างกฎหมายแล้ว รวมทั้งการอ้างงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
3) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพร้อมให้ความร่วมมือกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย
สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)
สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้
ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ
ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน