xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ถกวงเสวนา จี้องค์กรอิสระยกร่างมาตรฐานจริยธรรมให้ชัด “จรัญ” แนะฝ่าฝืนไล่ออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เสวนาอนาคตจริยธรรมตาม รธน.ใหม่ “วิษณุ” จี้องค์กรอิสระยกร่างมาตรฐานจริยธรรมให้ชัด มอง ขรก.-นักการเมืองอยู่ในกรอบมาตรฐาน 5 อย่าง ทำเสร็จต้องยกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้กลไกการบังคับสมบูรณ์ “จรัญ” เผยแนวคิดที่ประชุมเบื้องต้นผิดจริยธรรมไล่ออกสถานเดียว เจออาญาซ้ำ เชื่อเป็นประโยชน์ตัดมะเร็งร้าย ยกกรณีขโมยรูปที่ญี่ปุ่นถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง ส่งผลชาติ-ภาพลักษณ์ ขรก.

วันนี้ (1 ก.พ.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดเสวนา เรื่อง “อนาคตจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องจริยธรรมเคยเป็นบทบาทหนึ่งของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ให้อำนาจนี้ไว้อีกแล้ว เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ก็จะเริ่มนับหนึ่ง ผู้แทนองค์กรอิสระทั้ง 5 ต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรฐานจริยธรรมให้เสร็จใน 1 ปี ถ้าไม่เสร็จให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้ง 5 พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด และมาตรฐานจริยธรรมก็ต้องย้อนมาใช้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพร้อมกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย โดยกระบวนการต้องรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส. สว. และ ครม.ด้วย เชื่อว่าจะเป็นต้นแบบมาตรฐานจริยธรรมที่เอาไปใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศด้วย

“แต่สิ่งที่ในรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นถ้อยกระทงความ ต้องไปถกเถียงกันอีกก็คือเส้นแบ่งระหว่างความผิดจริยธรรมร้ายแรงกับไม่ร้ายแรง”

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 76 ระบุว่ารัฐจะต้องกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นอีกฉบับ สำหรับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐโดยเฉพาะ เพื่อนำไปทำมาตรฐานกลางด้านจริยธรรมในส่วนของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงหนีไม่พ้นที่กลไกของรัฐทั้งหมดตั้งแต่รัฐบาล ราชการจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เพียงแต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการจัดทำ

เรื่องสภาพการบังคับใช้ ในเรื่องจริยธรรมไม่ว่าข้าราชการหรือรัฐมนตรี ในกรอบมาตรฐาน 5 อย่าง 1. มาตรฐานทางจริยธรรม 2. วินัยของข้าราชการแต่ละฝ่าย ที่เขากำลังตั้งกรรมการสอบรองอธิบดีกรมทรัพย์สิน ก็คือสอบวินัยข้าราชการ 3. กฎหมายอื่น ที่มีโทษทั้งทางอาญา แพ่ง 4. กฎหมายที่ไม่มีและกำลังจะมี เช่น พ.ร.บว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ 5. ศีลธรรม ซึ่งเป็นตัวใหญ่ที่สุดเพราะกำหนดครอบไปถึงประชาชนด้วยไม่เฉพาะข้าราชการ ในเรื่องของมาตรฐานจริยธรรมสำหรับกลุ่มบุคคลระดับสูง คือ 6. องค์กรอิสระกำลังทำอยู่ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้คนกลุ่มนี้ดูแลผลประโยชน์ของชาติ และอะไรที่เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่ร้ายแรง คิดว่าถ้าชุดที่ศาลรัฐธรรมนูญทำเสร็จคงต้องทำเป็น พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลจริยธรรม แล้วกำหนดกลไกการปฏิบัติ การลงโทษ เพื่อให้ระบบมันสมบูรณ์ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญใหม่

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เห็นประโยชน์ว่าเรื่องนี้จะช่วยเสริมกำลังปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นมะเร็งร้ายกินประเทศมานานและเรื้อรัง ซึ่งการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญใหม่ ระหว่างนี้คณะทำงานกำลังพิจารณาเพื่อหาแนวทางร่วมระหว่าง 6 องค์กรปัญหาอยู่ที่ความยากในการหาจุดลงตัวของหลายองค์กรที่มีบุคลิกภาพ อำนาจหน้าที่เฉพาะ ว่าจะออกแบบมาตรฐานอย่างไรให้ลงตัว ทั้งนี้เห็นว่าหากใครฝ่าฝืนจริยธรรมถือเป็นเรื่องฉกรรจ์ มีแนวคิดเบื้องต้นเห็นว่าควรที่จะไล่ออกสถานเดียวและเชื่อมโยงกับกฎหมายอาญา แม้ว่าพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนจริยธรรมนั้นจะไม่กระทบทางอาญา หรือวินัย แต่ไปกระทบความคาดหวังของสังคม

“มาตรฐานจริยธรรมที่รัฐธรรมนูญให้เราทำนั้น มันน่าจะต้องมีบทจริยธรรมพื้นฐานที่ใครฝ่าฝืนต้องถือว่าร้ายแรง ส่วนจะเชื่อมโยงอย่างไรก็มีความเห็นว่าควรจะไปเชื่อมโยงกับความผิดวินัยของข้าราชการแต่ละองค์กรด้วย หลักคือให้ดูพฤติกรรมและความเสียหายที่เกิดกับสังคมเป็นเกณฑ์ เช่น หากสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติ แก่สังคม แก่อาชีพ ทั้งนี้ขึ้นกับการวินิจฉัยแต่ละองค์กร”

นายจรัญกล่าวต่อว่า นึกถึงตัวอย่างกรณีทำผิดอาญาในต่างประเทศ แม้อยู่นอกเขตอำนาจกฎหมายไทย ไม่ผิดอาญากฎหมายไทย และไม่ใช่ความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ รวมถึงก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่ต้องถือว่าผิดจริยธรรมทั่วไปเสียก่อน และเมื่อพิจารณาต่อไปพบว่าความผิดนั้นสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ ต่อราชการไทย ภาพลักษณ์ของราชการไทยทั้งระบบ และยังพลอยทำให้ประชาชนไทยรู้สึกต่ำต้อยเสียหายไปซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นการทำผิดจริยธรรมร้ายแรง

นายจรัญกล่าวว่า มันมีความคิดสายเมตตา แต่ก็ต้องไม่เมตตาจนไปทำลายแนวคิดมาตรฐานจริยธรรมของสังคม นอกจากนี้ยังมีความหลากลหลายที่แตกต่างกัน เช่นความเป็นกลางทางการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หากเอนเอียงต้องถือว่าร้ายแรงระดับอุดมการณ์ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างจริงจัง แต่พอไปใช้กับ ครม. ใช้กับ ส.ส. ก็อาจจะบังคับให้เป็นกลางทางการเมืองไม่ได้เต็มที่ และยังจำเป็นต้องหาตัว “หารร่วมมาก” คือทุกองค์กรเห็นร่วมกัน ก็จะเอามาเป็นมาตรฐานขั้นต่ำไว้ก่อน แล้วค่อยไปเพิ่มในแต่ละส่วน รวมทั้งเห็นพ้องกันว่าการฝ่าฝืนจริยธรรมต้องเขียนให้ชัดเป็นการขัดมาตรฐานทางวินัยของแต่ละองค์กร โดยต้องคำนึงถึงมาตรฐานทางศีลธรรมหรือสิ่งที่คนในสังคมบอกร่วมกันว่าอย่างนี้ไม่ได้ด้วย เพราะการที่สังคมรับไม่ได้มันแย่ยิ่งกว่าการผิดวินัย หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางวิชาชีพ

นายจรัญกล่าวว่า สุดท้ายคือสภาพบังคับ เราจะออกเป็นกฎหมายออกมาบังคับที่เทียบเท่าพระราชบัญญัติ ทำให้มาตรฐาน 6-7 องค์กรมีสถานะเสมือนประมวลกฎหมายฉบับหนึ่ง ถ้าทำได้จะเปิดช่องให้สามารถเติมเต็มในส่วนที่มากกว่ามาตรฐาน

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า เรื่องจริยธรรมร้ายแรงจะเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของ ป.ป.ช. โดยรับเรื่องกล่าวหาจริยธรรมร้ายแรงโดยตรง ไม่ผ่านการกลั่นกรองของผู้ตรวจการแผ่นดินอีกแล้ว และเมื่อชี้มูลแล้วจะส่งไปที่ศาลฎีกา หากศาลประทับรับฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และหากตัดสินว่าผิดก็จะต้องถูกตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป

“ปัญหาเรื่องการบังคับใช้เป็นเรื่องที่ท้าทาย ประชาชนคาดหวังอยากเป็นประสิทธิภาพและรวดเร็ว จึงมีการเสนอปรับกฎหมาย ป.ป.ช.ให้ระยะเวลาขั้นแสวงหาข้อเท็จจริงไม่เกิน 6 เดือน และไต่สวนไม่เกิน 2 ปี โดยขยายได้หากจำเป็น ซึ่งตามกรอบระยะเวลาก็ต้องถือว่าท้าทาย แต่ก็คิดว่าไม่เกิดความสามารถของคณะกรรมการ ป.ป.ช.”





กำลังโหลดความคิดเห็น