เมืองไทย 360 องศา
ต้องบอกว่ายังมึนและเวียนหัวกับสารพัดคณะกรรมการที่ประดังกันเข้ามานับสิบนับร้อยที่ต้องมีการแต่งตั้งกันเพิ่ม นี่ยังไม่นับรวมพวกที่เป็น “ที่ปรึกษา” เข้ามาอีกสารพัดชื่อคณะกรรมการที่รับรองว่าจำกันไม่หวาดไม่ไหว โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 1/2560 ตามข่าวบอกว่าเป็นการมอบนโยบายและซักซ้อมความเข้าใจในการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสามัคคี (ป.ย.ป.) ให้คณะกรรมการทั้ง 4 คณะ และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู)
และเพื่อป้องกันการเวียนหัวก็จะบอกว่า คณะทำงาน 4 คณะที่ว่านั้น ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ คณะกรรมการสร้างความปรองดอง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า นี่เป็นโครงสร้างที่ได้คิดขึ้นมาเพื่อบริหารราชการแผ่นดินในระยะที่ 2 คือ “การปฏิรูป” ให้เกิดความชัดเจนขึ้น และเตรียมส่งต่อไปในรัฐบาลหน้า โดยต่อไปจะเหลือแต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพียงอย่างเดียว ที่อย่างน้อยจะทำให้ 5 ปีแรกของรัฐบาลต่อไป ซึ่งจะเป็นใครไม่ทราบทำงานได้ต่อเนื่องอย่างที่ทำไว้วันนี้
ตามโครงสร้างดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการทั้ง 4 คณะ แต่จะให้รองนายกฯทำหน้าที่ขับเคลื่อน โดยเขาจะมอบนโยบายด้วยตัวเองทั้งหมดแล้วมีคณะอนุกรรมการที่อยู่ข้างล่างรับงานไปสานต่ออีกทีเพื่อลดแรงกดดัน
สำหรับการทำงานของคณะกรรมการปรองดองฯนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อธิบายว่าจะต้องมีคณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายการเมือง และฝ่ายเศรษฐกิจสังคม
“เขาจะคุยกันอันไหนที่ตรงกันก็เสนอขึ้นมาเพื่อมาคุยต่อ ฝ่ายกฎหมายก็ไปดูเรื่องคดีที่อ้างกันว่าไม่เป็นธรรม ว่า มีคดีอะไรบ้าง และสร้างการรับรู้แก่สังคมให้ได้ ส่วนจะทำอย่างไรก็ไปว่ากันอีกที ซึ่งไม่ใช่นิรโทษกรรม ทุกคนต้องไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้ก่อน เพราะมีกฎหมายเดิมอยู่แล้ว ต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาล เมื่อศาลตัดสินและรับโทษแล้วพอสมควรมันก็จะเป็นลดโทษ นิรโทษกรรมไปในแนวทางนี้มากกว่า อย่ามามองว่าอยู่ดีๆ ยังไม่เข้ากระบวนการแล้วให้ออกคำสั่งมาตรา 44 นิรโทษกรรม ทำไม่ได้ ต้องถามประชาชนด้วย”
เอาเป็นว่าเท่าที่ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อธิบายเรื่องโครงการยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสามัคคีในชาติ เราจะได้เห็นสารพัดคณะกรรมการที่จะผุดกันขึ้นมา เพราะล่าสุดหากรวมเอาคณะกรรมการปรองดองฯ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งอธิบายให้เห็นโครงสร้างการทำงานคร่าวๆ ของคณะกรรมการชุดนี้ว่าต้องมี คณะกรรมการฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการฝ่ายการเมือง และ คณะกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจและสังคม ขึ้นมาอีก เท่าที่เห็นรวมๆ แล้วหลายสิบคณะนับร้อยๆ คน จนไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีจะจดจำคณะกรรมการเหล่านี้ได้กี่คณะ และทำหน้าที่อะไรกันบ้าง เพราะมากมายจนเวียนหัวไปหมด เพียงแค่ชื่อแต่ละคณะก็มึนแล้ว
ขณะเดียวกัน น่าสังเกตก็คือ สารพัดคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมานั้นหากพิจารณาโฟกัสเฉพาะเรื่อง “ปฏิรูป” ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่คือ “หัวใจหลัก” เป็นความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่ในเวลานี้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติกลับใช้คำว่า “คณะทำงานเพื่อเตรียมการปฏิรูป” เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลหน้า
ความหมายชัดๆ ก็คือ คณะกรรมการและคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมานับสิบคณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้คำว่าเป็นการเตรียมการเพื่อปฏิรูปรอส่งต่อให้กับรัฐบาลหน้า ขณะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีกฎหมายรองรับก็ต้องให้รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เสียก่อนถึงจะเดินหน้ากันได้
แน่นอนว่า หากเป็นแบบนี้เมื่อคณะทำงานเพื่อเตรียมการปฏิรูปทำงานเสร็จสิ้นแล้ว สรุปเป็นเอกสารเสนอขึ้นมาแล้วตามสูตรก็ต้องส่งต่อไปให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อนำไปทำต่อ คำถามก็คือ การปฏิรูปตามความต้องการของประชาชนจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ และคำถามต่อก็คือที่ผ่านมานานเกือบสามปีเข้าไปแล้วยังไม่มีผลงานด้านการปฏิรูปที่เป็นชิ้นเป็นอันออกมาเลยใช่หรือไม่ แค่สักเรื่องเดียวที่เป็นเรื่องสำคัญก็ไม่มีเลยใช่หรือไม่
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงเรื่องแนวทางปรองดองกับอีกสารพัดคณะกรรมการและคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา และจะตามมาอีกเป็นพรวนแทบทุกรายงานล้วนเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แม้ไม่อยากบอกว่า “เสียเวลาเปล่า” แต่น่าจะเป็นลำดับที่อยู่ท้ายๆ หากพิจารณาจากความปราถนาของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติเดินหน้าเรื่องปฏิรูปในช่วงที่มีอำนาจพิเศษ เพราะชาวบ้านเขาไม่ศรัทธาไม่เชื่อน้ำยานักการเมือง “กระจอก” พวกนั้น
สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือ ความคืบหน้าแบบจริงจังไม่ใช่ “พายเรือวนในอ่าง” แบบนี้ เพราะส่อให้เห็นถึงความล้มเหลวที่รออยู่ข้างหน้าซึ่งมันเสียโอกาสและเสียเวลาเปล่า !!