ย้อนรอย 3 ปี ก่อนจัดระเบียบ “เขาคิชฌกูฏ” เบื้องหลังคณะสงฆ์เมืองจันท์ ร้อง “บิ๊กตู่” ทำนักแสวงบุญสับสน ต้นปี 58-59-60 ซ้ำรอยปัญหาเดิมๆ คณะสงฆ์เมืองจันท์โวยจัดระเบียบเขาคิชฌกูฏทำนักแสวงบุญสับสน-ลิดรอนประเพณี พาดพิงผู้ว่าฯ-หน.อุทยานฯ ถึงขั้นอ้างมีคำสั่ง ม.44 แทรกแซงจัดงานประเพณี เรียกรับผลประโยชน์จากคณะสงฆ์ฯ ขัดขวางการทำงานฝ่ายจัดงาน ทำให้เปิดแสวงบุญเป็นไปอย่างล่าช้า เปิด 5 คำสั่งฯ ผู้ว่าเมืองจันท์ หลังคณะสงฆ์-ชาวบ้านในพื้นที่โวย!
วันนี้ (31 ม.ค.) หลังจากจังหวัดจันทบุรีได้เปิดเทศกาลขึ้นนมัสการ “พระบาทพลวง” เขาคิชฌกูฏ-จันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ม.ค.เป็นวันแรก แต่ยังเกิดปัญหาต่างๆ ทำให้ประชาชนติดค้างลานจอดนับพันเนื่องจากไม่ทราบกฎเกณฑ์ใหม่ เช่น การจัดระเบียบรายบุคคล และร้านค้าตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด
โดยเมื่อเช้านี้ ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี บริเวณสำนักงาน ก.พ. ได้มีกลุ่มคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรีในนาม “กองทุนนิธิพระพุทธบาทพลวง” นำโดย พระครูพุทธบทบริบาล เดินทางมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. โดยกล่าวอ้างว่ามีการอ้างถึงคำสั่งมาตรา 44 เพื่อลิดรอนการจัดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง (เขาคิชฌกูฏ) และผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรียังมีคำสั่งแทรกแซงเทศกาลกังกล่าว
คณะสงฆ์อ้างว่า ผู้ว่าฯ จันทบุรี ร่วมกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ได้ขัดขวางการทำงานของคณะสงฆ์ฝ่ายจัดงานจนทำให้การทำงานล่าช้า และไม่สามารถเปิดงานประเพณีได้ตามกำหนดการเดิม 28 มกราคม ถึง 28 มีนาคม 2560 ซึ่งทางผู้จัดงานจำเป็นต้องเลื่อนงานออกไป
“ยังมีการอ้างมาตรา 44 เรียกรับผลประโยชน์จากคณะสงฆ์ฯ ซึ่งในขณะนี้เป็นการสร้างความสับสนให้แก่ผู้แสวงบุญ และการสร้างความขัดแย้งให้แก่คณะสงฆ์ผู้จัดงาน และยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเพณีที่เป็นการจรรโลงศาสนาและต่อเศรษฐกิจของ จ.จันทบุรี” กลุ่มคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรีระบุ และว่า “ดังนั้น ทางคณะสงฆ์ฯ จึงร้องขอความเป็นธรรมมายังนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วนพิเศษ เพื่อให้ผู้มาแสวงบุญได้มาแสวงบุญตามปกติอย่างสงบสุข”
มีรายงานว่า สำหรับคำสั่งดังกล่าวออกมาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2560 ลงนามโดย นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี หลังจากมีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มณฑลทหารบกที่ 19 และฝ่ายปกครองร่วมกับคณะสงฆ์ 9 วัด ในพื้นที่ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เช่น ห้ามจำหน่ายสินค้าตลอดเส้นทางบริเวณวัดพลวงกับวัดกระทิง ห้ามค้างแรมตามระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ ที่ห้ามมิให้มีการพักแรมและจำหน่ายสิ่งของในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมถึงมีการจัดระเบียบที่เน้นความปลอดภัย และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยส่วนของคิวรถกำหนดขึ้นได้คันละไม่เกิน 10 คน ส่วนดอกไม้กราบไหว้ขอพรจำกัดพื้นที่ไว้ที่เนินพระเมตตา ส่วนการปิดทองขอพรรอยพระพุทธบาท สามารถปฏิบัติได้ตามปกติเหมือนเดิม และผู้ที่จะขึ้นเขาขอให้เตรียมบัตรประชาชนไปด้วยเพื่อที่จะได้เช็กข้อมูลเรื่องความปลอดภัย ไม่อนุญาตให้ประกอบอาหาร บวชชีพราหมณ์ หรือพักค้างที่ด้านบนยอดเขา
อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่พ่อค้าแม่ค้าที่เคยไปจำหน่ายสินค้าตามทางเดินบนเขาคิชฌกูฏในทุกปีที่ผ่านมา เช่น ขนมแห้ง น้ำดื่ม สลากกินแบ่งรัฐบาล และของที่ระลึก และรวมตัวมาร้องเรียนจังหวัดให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดจึงได้จัดเตรียมพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ได้ขายสินค้าฟรีแล้วที่ว่าการอำเภอเขาคิชฌกูฏ
สำหรับเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ ระหว่าง 28 มกราคม ถึง 28 มีนาคม 2560 เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึง ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 รวม ระยะเวลา 60 วัน เพื่อให้ประชาชน พุทธศาสนิกชน นักแสวงบุญ และนักท่องเที่ยวขึ้นไปกราบไหว้ขอพรนมัสการรอยพระพุทธบาท ที่ตั้งประดิษฐานบนยอดเขาคิชฌกูฏ ชื่นชมธรรมชาติที่สวยงาม
ดู 5 คำสั่งผูู้ว่าฯ จันทบุรี ต้นเหตุไม่พอใจจัดระเบียบเทศกาล
มีรายงานว่า ที่ผ่านมาจังหวัดจันทบุรีมีหนังสือชี้แจงเรื่องการขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท สรุปได้ว่าอาจจะไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนด เนื่องจากเตรียมการไม่ทันอาจล้าช้าไม่น้อยกว่า 10 วัน และการห้ามมิให้จำหน่ายสินค้าบนภูเขาทุกจุด ห้ามปลูกที่พักบนภูเขาเพิ่มเติมไม่ว่ากรณีใดๆ แต่ให้อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏเป็นผู้พิจารณา พื้นที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาแสวงบุญ สำหรับการบวชชีพราหมณ์ บวชได้แต่ห้ามพักแรมบนภูเขา อนุญาตเฉพาะพระภิกษุที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น การนำดอกดาวเรืองขึ้นไปสักการะด้านบนนำมาไว้ที่เนินเมตตาและห้ามผู้แสวงบุญและคนงานพักแรมบนภูเขาเด็ดขาด
สำหรับคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีดังกล่าว ได้มีข้อกำหนดการขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ประจำปี 2560 แจ้งให้ผู้แสวงบุญและประชาชนทั่วไปได้รับทราบ โดยการเตรียมตัว
1. ให้นำหลักฐานหรือเอกสาร ที่สามารถระบุตัวตนนำติดตัวมาด้วย เพื่อนำมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่บริเวณจุดจำหน่ายตั๋วและที่บริเวณด่านตรวจอุทยาน
2. จุดคิวรถรับ-ส่งผู้แสวงบุญกำหนดไว้ 3 จุด ที่บริเวณวัดกระทิง, ที่ว่าการอำเภอเขาคิชฌกูฏ และลานจอดรถวัดพลวง การเดินรถแต่ละเที่ยวจะรับผู้โดยสารคันละไม่เกิน10 คน
3. การจำหน่ายตั๋วสำหรับค่าโดยสารประชาชนทั่วไปราคาขาขึ้นคนละ100 บาท ขาลง 100 บาท ส่วนราคาบัตรบริเวณด่านตรวจอุทยาน ประชาชนทั่วไป ราคา 10 บาท เด็ก 5 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท เด็ก 50 บาท แนะนำให้ซื้อตั๋วยังจุดจำหน่ายพร้อมกันทั้ง 2 จุด เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า
4. ตั้งแต่จุดสิ้นสุดการเดินรถบริเวณลานพระศวลี ขึ้นไปจนถึงรอยพระพุทธบาท จะไม่มีการเปิดจำหน่ายน้ำดื่มอาหาร สินค้าที่ระลึก แนะนำให้ผู้ที่ขึ้นไปนำอาหารและเครื่องดื่มติดตัวไปด้วย
5. การนำเครื่องสักการะทั้งดอกไม้ดอกดาวเรือง ธูปเทียน จะกำหนดให้ผู้แสวงบุญวางสักการะได้บริเวณลานพระศิวลี ไม่อนุญาตให้นำขึ้นไปบนลานพระบาท หรือวางบนรอยพระพุทธบาท
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่ขึ้นไปนมัสการได้มีโอกาสได้เห็นและสัมผัสรอยพระพุทธบาทพลวงได้อย่างชัดเจน ต่างจากทุกปีที่จะเห็นเพียงกองดอกไม้และพวงมาลัย
ปี 2558 ปัญหาหลายกลุ่ม ก่อนปี 2560 ผู้ว่าฯ สั่งจัดระเบียบครั้งใหญ่
เมื่อปี 2558 เกิดปัญหาต้นเหตุของ ปม “เขาคิชฌกูฏ” เริ่มจากมีคนกลุ่มหนึ่งใช้รถดัมป์นำดินมาเทกองปิดเส้นทางสายบ้านพลวง หมู่ที่ 4 ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ที่เป็นเส้นทางหลักที่ขึ้นไปงานนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ทำให้ผู้แสวงบุญไม่สามารถขึ้นไปได้ จนมีปัญหาแบบยืดเยื้อถึงขั้นมีการกางเต้นท์เพื่อปิดเส้นทาง ทำให้ผู้แสวงบุญที่เหมาจองรถบัสและรถตู้มางานนมัสการ บางส่วนได้มีการยกเลิกการเดินทางเพราะกลัวในความไม่ปลอดภัย ขณะที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่บริเวณงานก็ออกมาประท้วง เพราะทำให้ขายของไม่ได้เนื่องจากเสียค่าที่ในการขายของไปแล้ว
ต่อมานายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีขณะนั้น ได้ลงพื้นที่หาข้อยุติ โดยประชุมกับคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่าย คือ กลุ่มวัดกระทิง กลุ่มคณะสงฆ์วัดพลวง คณะกรรมการของท้องถิ่น และคณะกรรมการของจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ และเกิดผลเสียต่อจังหวัดจันทบุรี
คณะสงฆ์ในขณะนั้นได้ส่งเรื่องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาแก้ปัญหา โดยตอนนั้นมีข้อเสนอมอบรายได้ ส่วนแรกมอบให้ทางวัดกระทิง 30% ส่วนที่ 2 มอบให้กองทุนอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ 30% ส่วนที่ 3 คณะสงฆ์ 30% และส่วนที่ 4 มอบให้จังหวัด 10% เป็นข้อเสนอที่เป็นทางออกสำหรับการยุติปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยปัญหาครั้งนั้น คณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรีได้เคยเดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังจากเจ้าอาวาสวัดเขากระทิงอ้างสิทธิ์ในการจัดงานดังกล่าว
ครั้งนั้น พระครูพุทธบทบริบาล ในฐานะประธานดำเนินการจัดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท ระบุว่า เดิมคณะสงฆ์บริหารพระพุทธบาท ซึ่งรวมตัวกันมาจาก 9 วัดในพื้นที่ ร่วมกันจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาทมาโดยตลอด ปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2558 แต่เมื่อพระครูธรรมสรคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดกระทิง ซึ่งเป็นประธานการจัดงานมรณภาพลง ปรากฏว่า พระครูวิโรจน์ธรรมานุกูล เจ้าอาวาสวัดกระทิงรูปปัจจุบัน กลับอ้างสิทธิในการจัดงานเพียงวัดเดียว พร้อมกับให้สิทธิ์ดังกล่าวแก่ทางสมาคมตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเวโช นายกสมาคมตำรวจ เป็นผู้ดำเนินการจัดงาน
พระครูพุทธบทบริบาลกล่าวว่า ประชาชนและคณะสงฆ์เห็นว่าการจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาทควรให้คณะสงฆ์เป็นผู้จัดงานเช่นเดิม เพราะแต่ละปีที่ผ่านมาก็ผ่านไปด้วยดีมาตลอด อีกทั้งหากแยกกันจัดงานจะทำให้กำหนดการจัดงานของทั้ง 2 ส่วนทับซ้อนกัน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ปี 2559 ข่าวลือสะพัดปิดไม่มีกำหนด ปัญหาหลายอย่างก่อนเริ่มจัดระเบียบ
ในปี 2559 มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์ ผวจ.จันทบุรี ในขณะนั้น กับพระราชจันทโมลี เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี และได้มีประกาศจากคณะสงฆ์เขาคิชฌกูฏ ยืนยันถึงการจัดงานระหว่างวันที่ 8 ก.พ.ถึงวันที่ 7 เม.ย. 2559 แต่ได้ขอเลื่อนเวลาการขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาทอย่างไม่มีกำหนด โดยระบุว่า “เนื่องจากการจัดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทปีนี้ล่าช้า ในการจัดเตรียมสถานที่บนยอดเขา ตลอดจนเส้นทางขึ้น-ลง ทางคณะสงฆ์เห็นว่าไม่ทันต่อกำหนดการเดิม และอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับพุทธศาสนิกชน ประชาชน นักแสวงบุญ และนักท่องเที่ยวที่ต้องการขึ้นไปบนยอดเขา จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมปรับปรุงไม่ไม่น้อยกว่า 15 วัน จึงจะสามารถขึ้นลงได้”
อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 มีข่าวลือมากมายว่าจะมีการปิดเทศกาลไม่มีกำหนด แต่เทศกาลก็เปิดได้ปกติ แต่กลับพบปัญหาส่วนหนึ่งมาจากประชาชนไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เช่น การนำรถไปจอดในจุดห้ามจอด ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด มีการประสานไปยังทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ให้เข้าไปช่วยดูแลอำนวยความสะดวก พร้อมกับจัดที่จอดรถสำรอง และให้บริการรถรับส่ง และมีเจ้าหน้าที่จัดคิว เป็นต้น