xs
xsm
sm
md
lg

“รัฐบาล (ผสม) แห่งชาติ” มโนหรือเพ้อเจ้อ แปะไว้รอพิสูจน์ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



“อย่ามาเพ้อเจ้อ เพราะมันเลยคำว่ามโนไปแล้ว นำไปเขียนแล้วไม่รับผิดชอบ คนที่ทำเรื่องปรองดองมาได้ฟังแบบนี้เขาก็จะเสียใจ เพราะเขาตั้งใจทำทุกอย่าง คนที่อ่านแล้วเชื่อก็มีเยอะ ผมไม่ได้โกรธหรือเกลียดอะไร แต่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ารัฐบาลจะให้ใครไปดีลกับพรรคการเมือง จะไปดีลอย่างไรผมมองไม่ออก เพราะไม่รู้ว่าแต่ละคนจะแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะอย่างไร เขียนกันไปเรื่อยจนทำให้เกิดความเสียหายในภาพรวมของประเทศ เพราะไปเขียนในทางที่ไม่ดีว่า คสช. ไปคุม ไม่ให้มีอิสระ มันไม่ใช่แบบนั้น รัฐบาลนี้ตั้งใจทำให้เกิดความปรองดองและมีอิสระในการแสดงความเห็นของทุกภาคส่วน เพราะเรื่องในอนาคตก็ไม่มีใครรู้ว่าจะมีความปรองดองได้หรือไม่ แต่หากมีกติกาที่ชัดเจน ทุกฝ่ายมาร่วมกันก็อาจจะมีแนวทางที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต เราไม่มั่นใจว่าตลอด 3 เดือน การพูดคุยนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะทุกคนตอบรับว่าจะมา ผมขอท้าคนที่เห็นผมไปพูดคุย หรือดีลกับพรรคการเมืองใดๆ ขอให้ออกมาพูด อย่างไรก็ตาม คนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดองเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถ”

คำพูดดังกล่าวของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงอารมณ์ “เกือบจะเดือดดาล” เมื่อถูกสื่อถามถึงเรื่องแนวทางปรองดองของนักการเมืองเพื่อเชื่อมโยงไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” หลังการเลือกตั้งในช่วงกลางปีหน้า โดยเขาปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่มีเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการคุยเองหรือสั่งให้ใครไปคุยกับนักการเมืองด้วยวัตถุประสงค์ที่ว่า

อย่างไรก็ดี หากพูดถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติในอดีตมักจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นพูดเป็นคนเสนอขึ้นมา ก่อนหน้านี้ หากพูดถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติก็ต้องนึกถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็มักถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยามตลกขบขัน เนื่องจากเป็นไปไม่ได้อีกทั้งบรรยากาศและเงื่อนไขในตอนนั้นไม่เปิดทางให้ ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุผลในแบบประชาธิปไตย แบบรัฐสภาที่ต้องมีพรรคฝ่ายค้านจึงเป็นไปไม่ได้

ในอดีตหากจะเทียบเคียงแบบเข้าใกล้รัฐบาลแห่งชาติได้มากที่สุดก็น่าจะเป็นยุครัฐบาล “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่นำเอาพรรคการเมืองใหญ่มาร่วมรัฐบาล ในยุคที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เป็นนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นเงื่อนไขจากรัฐธรรมนูญในยุคนั้นเปิดทางเอาไว้ให้ “นายกฯคนนอก” โดย “ป๋าเปรม” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรียาวนานกว่า 8 ปี จนกระทั่งเกิดวาทะอันลือลั่น “ผมพอแล้ว” ทุกอย่างก็จบลง

มาถึงยุคปัจจุบันที่หลายคนเริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่า “วงล้อกำลังหมุนกลับมา” อีกครั้ง หลังจากได้เห็นคสามเคลื่อนไหวบางอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเคลื่อนไหว “สร้างความปรองดอง” ที่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาทั้งที่หากพิจารณาตามสถานการณ์แล้วไม่จำเป็นต้องพูดถึงในตอนนี้ก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขเวลาตามโรดแมปในวันข้างหน้าที่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ ต้องมีสภา ต้องมีนักการเมือง มีนักเลือกตั้ง มันก็อาจต้องมีการ “แตะมือ” กันเอาไว้บ้าง เพราะถึงตอนนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องสลายลงไป และต้องคืนอำนาจไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน “บทเฉพาะกาล” ที่ต้องบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปี ได้เปิดทางให้มี “นายกฯคนนอก” เข้ามาได้ แม้ว่าในเวลานี้ยังระบุชื่อว่าเป็นใคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังไม่ตอบรับแต่ยังไม่ปฏิเสธ แต่รับรองได้ว่าหากใครที่ติดตามการเมืองมาอย่างใกล้ชิดก็น่าจะมองออก เพราะเมื่อมีนายกฯคนนอกแล้ว มันก็ต้องมี “ผู้จัดการรัฐบาล” ซึ่งเคยมีมาให้เห็นแล้ว

แน่นอนว่า สำหรับองค์ประกอบทางการเมือง เมื่อต้องมีการเลือกตั้ง มันก็ต้องมีนักการเมือง และในอนาคตมันก็ต้องมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นมา และแม้ว่าในเวลานี้มีคนสังเกตความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปรองดองที่มีแนวทางชักชวนให้นักการเมืองมาทำสัตยาบันให้ยุติความบาดหมางต่อกันทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งมันก็เข้าเค้า

แม้ว่าเป็นการคาดเดากันไปล่วงหน้านานนับปี แต่หากพิจารณาตามโรดแมปที่มีการปรับปรุงใหม่ให้การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในราวกลางปีหน้า แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างต้องเดินไปตามเส้นทางนั้นเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเริ่มแตะมือกันไว้บ้างมันก็ไม่เสียหาย และแม้ว่า “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะออกอาการขัดใจบ้างหาว่า “เพ้อเจ้อ” เกินคำว่ามโนก็ตาม แต่ถึงตอนนั้นหากมีนายกฯคนนอก มันก็ต้องมีองค์ประกอบของรัฐบาลผสม (แห่งชาติ) ที่ต้องมีนักการเมือง ส่วนจะมาจากพรรคไหนบ้างอีกไม่นานก็น่าจะได้คำตอบ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น