xs
xsm
sm
md
lg

ฮือต้าน กม.ขึ้นทะเบียนนักข่าว ยื่นดาบนักการเมืองกดหัวสื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


30 องค์กรสื่อรวมพลังออกแถลงการณ์เรียกร้องยกเลิกร่างกฎหมายควบคุมสื่อฯ ของ สปท. ชี้มีเนื้อหาขัดหลักสิทธิเสรีภาพ ตั้ง 4 ปลัดกระทรวงร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ มีอำนาจสั่งปรับ ขึ้นทะเบียน เพิก-ถอนใบอนุญาตเป็นนักข่าวได้ ระบุเป็นการออกกฎหมายใส่พานให้นักการเมืองเข้ามากดหัวสื่อในอนาคต

วันนี้ (29 ม.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน นายเทพชัย หย่อง ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปได้อ่านแถลงการณ์ร่วม 30 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การคัดค้านร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีใจความว่า

“ตามที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... เพื่อเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรับรองและส่งให้คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปตามความทราบแล้วนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ ได้ประชุมหารือร่วมกันแล้ว มีความเห็นดังต่อไปนี้

1) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ดังกล่าว มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ ทั้งนี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐและเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

2) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ โดยให้กลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายดังกล่าว

3) หากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเดินหน้ารับรองร่างพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศจะยกระดับมาตรการในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ต่อไปจนถึงทีสุด

4) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้พัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อยกระดับความรับผิดชอบของสื่อมวลชนและตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย
สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
สมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย)
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)
สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคเหนือ 17 จังหวัด
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคกลาง-ภาคตะวันออก
เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้
ชมรมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์อาวุโส
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ
ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพสื่อมวลชน
๒๙ มกราคม ๒๕๖๐

นายเทพชัยเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ที่ สปท.กำลังพิจารณายกร่างอยู่นั้น มีเนื้อหาที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยอิสระ และเป็นครั้งแรกที่จะมีการใช้อำนาจทางปกครองต่อสื่อมวลชน โดยการให้สภาสื่อมวลชนแห่งชาติสั่งปรับสื่อมวลชนได้ นอกจากนั้นการกำหนดให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวง ร่วมเป็นกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จะทำให้สื่อมวลชนมีปัญหาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ เพราะปลัดกระทรวงเป็นบุคคลที่จะต้องได้รับการตรวจสอบของสื่อมวลชน แต่กลับให้มีทำหน้าที่ควบคุมสื่อมวลชนเสียเอง

นายเทพชัยกล่าวต่อว่า ที่เลวร้ายที่สุดคือการกำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนมีอำนาจขึ้นทะเบียน ออกและและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือกดหัวสื่อมวลชนในอนาคต เชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันคงไม่ได้ใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่คนที่จะใช้กฎหมายนี้ก็คือนักการเมืองที่กำลังจะเข้ามาหลังการเลือกตั้ง และนักการเมืองต่างก็ต้องการกฎหมายในลักษณะนี้เอาไว้ควบคุมสื่อมวลชนอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงที่เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะออกกฎหมายในลักษณะนี้ได้ จะเห็นว่าในอดีตนักการเมืองที่มีอำนาจมากๆ มักจะหาทางควบคุมสื่อมวลชนให้อยู่ภายใต้อำนาจของตัวเอง แม้ว่าจะไม่มีกฎหมายในลักษณะนี้ก็ตาม เช่น การสั่งให้ ปปง.ตรวจสอบบัญชีธนาคารสื่อมวลชนที่คิดว่าไม่เป็นพวกของตนเอง เป็นต้น เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายฉบับนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นการชงลูกใส่พานไว้ให้นักการเมืองได้มีเครื่องมือไว้กดหัวสื่อมวลชนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าในรัฐบาล หรือ สปท. ยังมีผู้ที่มีเหตุผลซึ่งเราจะสื่อสารกับคนเหล่านี้ เพื่อให้เห็นว่าร่างกฎหมายที่ออกมาที่หวังว่าจะเป็นการปฏิรูปสื่อมวลชนนั้น หากมีเนื้อหาเป็นแบบนี้ ก็จะให้ผลในทางตรงกันข้าม สื่อจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองโดยสิ้นเชิง จึงเชื่อว่าคนเหล่านั้นจะมีเหตุผล

ด้านนายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า 2 ประเด็นหลักที่เราคัดค้าน ก็คือการให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้มีการออกหรือเพิกถอนได้ และการให้ปลัดกระทรวง 4 กระทรวง ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และปลัดกระทรวงการคลัง เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงสื่อโดยอำนาจรัฐอย่างชัดเจน

ขณะที่นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เราไม่ได้คัดค้านการตรวจสอบสื่อมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงพัฒนาการกำกับดูแลกันเองมาโดยตลอด เช่น การปรับแก้ข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกลาออกกระทันหันเมื่อถูกร้องเรียน การส่งเสริมการตั้งคณะกรรมการจริยธรรมภายในองค์กร ซึ่งองค์กรสื่อได้มีการจัดตั้งใกล้จะครบแล้ว การส่งเสริมบทบาทของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น องค์กรสื่อจึงเห็นว่าควรจะยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าว และยังเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการยกร่าง และผ่านการลงประชามติแล้ว ซึ่งไม่มีมาตราใดที่ระบุว่าให้มีการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติขึ้นมากำกับดูแลสื่อมวชลชน





















7 คำถาม กฎหมายสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ

ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ....กำหนดให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งมีเนื้อหาขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และสื่อมวลชน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง โดยสรุปจากคำถาม – คำตอบ 7 ข้อดังนี้

1.การมีขึ้นของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะมีผลกระทบโดยรวมต่อผู้ประกอบวิชาชีพอย่างไร ?
ผู้ประกอบวิชาชีพ จะต้องสังกัดสภาวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หรือสภาวิชาชีพอื่นๆที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นทะเบียนต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติภายใน1 ปี เท่ากับบังคับให้สื่อต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติหรือสภาใหญ่นี้โดยปริยาย

2.คณะกรรมการสภาใหญ่เป็นใคร มาจากไหน?
มาจาก 3 ส่วนได้แก่ ผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพเลือกกันเอง จำนวน 5 คน /ตัวแทนรัฐ 4 คนคือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกจำนวน 4 คน (เลือกโดยกรรมการ ๒ ประเภทแรก) การมีข้าราชการในตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งปกติก็ขึ้นอยู่กับนักการเมืองผู้มีอำนาจ อยู่ถึง 4 คน จะเปิดช่องทางให้มีการแทรกแซงจากรัฐได้ และโดยปกติสภาวิชาชีพทั่วไป ก็จะมีกรรมการที่มาจากวิชาชีพนั้น ไม่ปรากฏว่ามีตัวแทนภาครัฐ

3.อำนาจคณะกรรมการ ลิดรอนเสรีภาพสื่อ?
อำนาจหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการ มีหลายประการ แต่ที่เป็นประเด็นโต้แย้ง คือ อำนาจในการรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเท่ากับการทำงานของสื่อมวลชนไม่จำแนกประเภท จะต้องมีใบอนุญาตและอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากเสนอข่าวไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้มีอำนาจ สื่อมวลชนก็อาจเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับผู้มีอำนาจ อำนาจเช่นนี้ ขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่รับรองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน นอกจากนั้น หากสื่อกลัวเดือดร้อน หรือถูกกระทบจากผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตก็จะเสนอข่าวที่ปลอดภัย หรือข่าวที่ไม่มีสาระ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็จะถูกกระทบไปด้วย

4.เงินที่ใช้ในกิจการของสภาใหญ่มาจากไหน?
กฎหมายกำหนดให้กระทรวงการคลัง จัดสรรเงินขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส ในส่วนที่จะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ให้สภาวิชาชีพฯ ในอัตราร้อยละห้า ในกำหนดเวลาสามปีแรกที่จัดตั้งสภาใหญ่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจปรับเพิ่มรายได้ทุกสามปี เท่ากับ เป็นอำนาจของฝ่ายรัฐในการจัดสรรเงินที่ใช้ในกิจการสภาวิชาชีพฯ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงได้

5.การลดทอนความเชื่อถือในสภาวิชาชีพปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อยังคงพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้ตามปกติ แต่เมื่อผู้เสียหาย หรือผู้ถูกละเมิดใช้สิทธิทางศาล กฎหมายยังให้กระบวนการสอบสวนทางจริยธรรมของสภาวิชาชีพ ดำเนินต่อไป ซึ่งขัดแย้งกับวิธีการพิจารณาในสภาวิชาชีพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เพราะผลคำวินิจฉัยของศาลและสภาวิชาชีพที่อาจขัดแย้งหรือแตกต่างกัน อาจนำไปสู่ช่องทางการอุทธรณ์ต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ สุดท้ายความเชื่อถือของสภาวิชาชีพจะลดลง เพราะเป็นสภาที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

6.อำนาจในการลงโทษของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
กฎหมายกำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ มีอำนาจลงโทษปรับผู้ละเมิดเป็นชั้นๆ เป็นโทษทางปกครองชั้นที่ 1 ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ชั้นที่ 2 ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และสุดท้ายชั้นที่ 3 กรณีร้ายแรง ปรับไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท และเพิกถอนสมาชิกสภาพ

7.รัฐบาลกำกับ ดูแล การจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติตั้งแต่ต้น
บทเฉพาะกาลกำหนดให้มีคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในสภานี้ เป็นประธานคณะทำงาน นอกจากนั้น มีปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เลขาธิการ กสทช และบุคคลอื่นๆ อีกรวมสิบสามคน เป็นคณะทำงาน ดำเนินการจัดตั้งให้เสร็จภายในสองปี ตัวแทนภาครัฐจึงมีบทบาทในการกำกับ ดูแลทิศทางของสภาใหญ่นี้แต่ต้น ซึ่งจะไปตอบรับแนวคิดแบบอำนาจนิยม ที่ต้องการจะคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น