xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านฉลุยงบกลาง 1.9 แสนล้าน สนช.หวั่นไม่โปร่งใส แนะตั้ง กก.เกาะติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม สนช.ถกงบกลาง ปี 60 ก่อนผ่านฉลุย 3 วาระรวด วงเงิน 1.9 แสนล้าน ด้าน รมว.คลังโวเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แนวโน้มมั่นคง เหตุรัฐบาลทุ่มงบลงกลุ่มจังหวัดมาก ตั้งเป้า ปชช.อยู่ดีกินดี ขณะที่ สนช.ห่วงใช้จ่ายไม่โปร่งใส แนะตั้ง กก.เกาะติดใช้จ่าย

วันนี้ (27 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.20 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 พ.ศ. ... ที่เสนอโดย ครม. โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง นายวิสุทธ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย เข้าร่วมชี้แจงต่อประชุมด้วย โดยนายอภิศักดิ์ ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้มีวงเงินจำนวนไม่เกิน 190,000 ล้านบาท โดยเป็นการมุ่งเน้นดำเนินนโยบายเร่งด่วนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน เงินได้สำหรับจ่ายตามงบประมาณนี้ คือ รายได้จากรัฐบาลที่จะจัดเก็บได้ และเงินกู้ ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์และโครงการที่สำคัญในการใช้งบประมาณ คือ 1. เป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นจำนวน 115,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ซึ่งมีลักษณะบูรณาการเบ็ดเสร็จ โดยเน้นการทำงานตามแนวประชารัฐ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเข้มแข็ง และยั่งยืนในทุกภูมิภาคพร้อมๆกันไป

นายอภิศักดิ์ชี้แจงอีกว่า 2. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเป็นจำนวนเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน เพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากด้วย 3. กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการลงทุนให้มีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพสามารถดึงดูดเงินลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงอาจจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 4. เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเป็นจำนวน 22,921,300 บาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ สำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย และไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ และใช้จากแหล่งอื่นได้ 5. เป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังเป็นจำนวน 27,078,278,700 บาท

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการฟื้นตัวของภาคผลิต ภาคเกษตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน แนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกและราคาสินค้าส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนของเอกชนปรับตัวดีขึ้น และรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลก สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีและมั่นคง อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ระดับ 1.5-2.5 เปอร์เซ็นต์ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่การจ้างงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคผลิต ภาคเกษตร และดุลบัญชีเงินเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลงบประมาณอยู่ร้อยละ 10.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า และวางรากฐานสำหรับการพัฒนาในระยะยาว ภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศไทยจำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศส่วนใหญ่มาจากเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างเร่งด่วน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.งบเพิ่มเติมนี้ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้การดำเนินงานของรัฐบาลบรรลุผลตามเจตนารมณ์ได้ จึงหวังว่า สนช.จะรับหลักการและสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อที่รัฐบาลจะได้นำงบประมาณไปดำเนินงานเรื่องสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลอย่างคุ้มค่าโปร่งใส เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประชาชนต่อไป

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้อภิปรายโดยสมาชิกต่างอภิปรายเห็นด้วยและสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อนำไปใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ แต่ได้แสดงความกังวลถึงการใช้จ่ายบริหารงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใสคุ้มค่า โดยงบประมาณต้องลงพื้นที่ถึงมือประชาชนจริงๆ อย่าเกิดความซ้ำซ้อน พร้อมเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่มีประกอบด้วยทุกภาคส่วนเพื่อติดตามการใช้งบประมาณที่ลงไปตามกลุ่มจังหวัดเนื่องจากเป็นงบประมาณที่มีความสำคัญและเร่งด่วน ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการนอกจากนี้เสนอให้นำงบส่วนนี้ไปศึกษาเชิงลึกถึงต้นตอของภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้เพื่อนำมาประกอบแผนป้องกันระยะยาว

โดย พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิก สนช.กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับงบประมาณส่วนนี้ เพราะต้องนำไปใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่การตั้งงบประมาณครั้งนี้เป็นการใช้งบขาดดุลอีกครั้ง ซึ่งทำให้ตัวเลขขาดดุลงบประมาณนั้นสูงขึ้น จึงสงสัยว่ารัฐบาลประมาณการณ์รายได้และการชดใช้เงินกู้อย่างไร อีกทั้งหนี้สาธารณะของประเทศเทศมีสัดส่วนเท่าไหร่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และระดับหนี้สาธารณะของประเทศมีความน่าเป็นห่วงหรือไม่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ชี้แจงว่า ขณะนี้เงินกู้ของภาครัฐต่อจีดีพีอยู่ประมาณ 42% ถ้าเรากู้เงิน 1.6 แสนล้านบาทจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 1.9 แสนล้านบาท จะทำให้สิ้นปีนี้มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 44% ถือว่าต่ำกว่ามากจากขอบเขตที่กำหนดไว้ 60% ของจีดีพี ดังนั้น ด้วยความเข้มแข็งของฐานะทางการเงินเช่นนี้ รัฐบาลจึงตัดสินใจว่าควรทำงบประมาณกลางปีและกู้เงินเพิ่ม 1.6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่เติมลงไปหากลงตรงๆ คงทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.4-0.5% ซึ่งไม่มาก แต่สิ่งที่เราหวังไม่ใช่แค่จีดีพีมากขึ้น แต่เราหวังว่าประเทศจะสามารถแข่งขันได้ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถ้าประเทศร่ำรวยแต่ประชาชนยังยากจน ก็คงไม่ใช่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้งบประมาณครั้งนี้ลงไปในกลุ่มจังหวัดมากขึ้น

จากนั้นที่ประชุมได้ลงลมติรับหลักการวาระหนึ่งด้วยคะแนน 182 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาในวาระที่สอง โดยสมาชิกส่วนใหญ่ได้ท้วงติงถึงการจัดสรรงบบางส่วนผิดประเภท มีความซ้ำซ้อนในหลายหน่วยงาน และไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน หลายส่วนสามารถนำไปใส่ในงบประมาณรายจ่ายปกติได้ หลังจากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงตามมาตราทั้งหมด 10 มาตราแล้ว สมาชิกสนช.ได้ลงมติในวาระที่สามและ เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ด้วยคะแนน 163 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 และได้ปิดการประชุมในเวลา 15.20 น. โดยที่ประชุมใช้เวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวรวมทั้งสิ้นรวม 5 ชั่วโมง












กำลังโหลดความคิดเห็น